ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ได้รับจากการดำเนินโครงการประเภทดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากักเก็บไว้ (Carbon removal projects) ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าคาร์บอนเครดิตจากโครงการทั่วไปที่แค่ลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon reduction/ avoidance projects) เนื่องจากก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ ซึ่งมีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน (Co-benefit) เช่น แหล่งอาหาร สร้างอาชีพ แหล่งต้นน้ำ การป้องกันมลพิษ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น ป่าไม้จึงเป็นอีกหนึ่ง Solution ที่สามารถสร้างมูลค่าที่เกิดจากคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะตอบโจทย์การเป็นสังคมปลอดคาร์บอนได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ในไทย จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้เปรียบด้านความเชี่ยวชาญในภาคเกษตร องค์ความรู้ แรงงาน และการสนับสนุนภาครัฐ โดยคาดว่าในระยะ 2 ปีข้างหน้า (2567-2568) ปริมาณคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ของไทย มีศักยภาพที่จะขอรับรองได้ประมาณ 600,000-700,000 tCO2eq หรือประมาณ 5 เท่า จากที่เคยได้รับการรับรองทั้งหมด อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับผู้พัฒนาโครงการว่าจะขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในช่วงเวลาใด
ส่วนในระยะข้างหน้า ราคาคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ ยังน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ แต่อัตราการเพิ่มขึ้นคงจะช้าลง ตามอุปทานคาร์บอนเครดิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏต่อจากนั้น คงจะเห็นเป็นทิศทางราคาที่ค้างในระดับสูง เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ป่าไม้ที่มีจำนวนจำกัดในการนำมาพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต รวมถึงระยะเวลาในการพัฒนาโครงการที่จะทำให้มีการรับรองเครดิตภาคป่าไม้เป็นรอบ และอุปสงค์การนำคาร์บอนเครดิตประเภท Removal ที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้ชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในระดับประเทศที่ได้ตั้งไว้
อย่างไรก็ดี แม้การปลูกป่า/ ต้นไม้เพื่อคาร์บอนเครดิต จะมีกระบวนการ ต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายปลีกย่อย ที่ส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการ แต่คาดว่าความนิยมต่อคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้จะมีมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงแต่ในตลาดเมืองไทย แต่จะเป็นในระดับโลก ตามความต้องการชดเชยปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพื่อการเป็น Net Zero ที่ท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจคงไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงทำให้ Nature-Based Solution ของภาคป่าไม้ จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการลดและปิดช่องว่างของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ที่ต้องการทำโครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างค่าเสียโอกาสจากกระแสเงินสด ที่อาจได้มาอย่างต่อเนื่อง หากนำพื้นที่หรือเงินทุนไปดำเนินโครงการอื่น กับดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจจะได้กระแสเงินสดกลับมาเป็นรอบๆ รวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินอื่นๆ จากการทำโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทนี้
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วพบว่า มีความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจได้ ภาคธุรกิจคงต้องเร่งดำเนินการนับตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่ป่าไม้ต้องใช้ในการเจริญเติบโต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)
Tags: คาร์บอนเครดิต, ป่าไม้, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย