KTX มองเศรษฐกิจไทย Q4/66 ตกหลุมอากาศกดดัน SET ปรับฐาน แนะหุ้น Global play-เลือกหุ้นรายตัว

บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2023 ยังอยู่ในช่วงตกหลุมอากาศจากเครื่องจักรกลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่อาจฟื้นตัวได้เต็มที่และการเร่งตัวของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนอัตราผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง กดดันการประเมินมูลค่าตลาดหุ้นไทย มองเป้าหมาย SET ปรับลงมาที่ 1,477 จุด (กรอบเคลื่อนไหว 1,384-1,584 จุด) แนะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นในกลุ่ม Global play รับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน และมองหุ้นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในประเทศ พร้อมแนะนำเก็งกำไรเฉพาะหุ้นมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานวิจัย KTX กล่าวในงานสัมมนา “Investment Outlook 4Q23 Chain reaction : เศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะตกหลุมอากาศ” ว่า มุมมองการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 66 อยู่ภายใต้นิยาม “THAI ECONOMY TO HITS AIR POCKET” หรือการตกหลุมอากาศของเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายการเงินโดยคำนึงถึงภาพอนาคตว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับศักยภาพเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ด้วยผลพวงของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดมาก ส่งผลให้ GDP ไทยในครึ่งแรกของปี 66 เติบโตเพียง 1.8% YoY

อีกทั้งดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (PMI Manufacturing) กลับเข้าสู่โซนหดตัวในไตรมาส 3 ปี 2023 การส่งออกยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า

แม้มีความพยายามในการดำเนินนโยบายวีซ่าฟรี ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนเพื่อผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงเป้าหมายที่ ธปท. ตั้งไว้แต่ด้วยรายได้ต่อคนของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นนัยว่าไทยยังอาจต้องเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.3 แสนล้านบาท หรือ 1.4% ของ GDP

อีกทั้งการดำเนินนโยบายของ ธปท. ที่ยังคงปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริง (Real rate) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.6% ยังอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น นอกจากนี้ แนวทางของรัฐบาลใหม่ที่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายขาดดุลมากขึ้น อาจส่งผลให้ระดับหนี้สิน ต่อ GDP ในระยะ 4 ปีข้างหน้า(ตามวาระของรัฐบาล) เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 65% ต่อ GDP จนอาจเป็นความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ความกังวลดังกล่าวนำไปสู่การเทขายพันธบัตรไทย โดยเฉพาะพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งผลให้ KTX ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ระยะ 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 3.95% ด้วยอัตราผลตอบแทนดังกล่าวอยู่ในฐานะอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง จึงส่งผลลบต่อการประเมินมูลค่าดัชนีตลาดหุ้นไทย KTX ปรับเป้าหมาย SET ลงมาที่ 1,477 จุด ด้วยกรอบเคลื่อนไหว 1,384-1,584 จุด

นายณัฐวุฒิ จันทนะจุลพงศ์ นักกลยุทธ์การลงทุน KTX แนะนำเพิ่มน้ำหนัก (Overweight) หุ้น Global play เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเลือกหุ้นปลายน้ำ (Downstream) อย่าง SPRC และ TOP ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมัน เพื่อรับแนวโน้มการทรงตัวระดับสูงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี 2023 จากภาวะอุปทานตึงตัว

รวมไปถึงหุ้นที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว ได้แก่ SAWAD รับระดับการตั้งสำรองหนี้สูญฯ ที่มีแนวโน้มปรับลงสู่ระดับปกติ AMATA รับอานิสงส์เชิงบวกจากการย้ายฐานการผลิตจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนตึงเครียดมากขึ้น และ CPN รับนโยบายหนุนท่องเที่ยวของภาครัฐในช่วง High-season

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top