บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) แจ้งว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(สำนักงาน ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัทฯ ส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (extended-scope special audit) ภายในวันที่ 29 ก.ย. 66 นั้น บริษัทได้รับรายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจพบจากการดำเนินการดังกล่าวจากผู้สอบบัญชี ดังนี้
1. ผู้สอบบัญชีตรวจพบธุรกรรมทางการเงิน หรือการบันทึกรายการทางการเงินที่ผิดปกติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบันทึกรายการรับ-จ่ายเงินระหว่างบริษัทและบริษัทย่อยที่ผิดปกติ รายการจ่ายเงินที่ไม่ตรงกับใบแจ้งหนี้ รวมถึงการใช้เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ และการใช้เงินที่ได้รับจากการใช้เงินเพิ่มทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งบริษัทขอสรุปธุรกรรมที่ผิดปกติที่สำคัญดังนี้
1.1. การใช้เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้
บริษัทได้ออกหุ้นกู้ทั้งหมด 6 ชุดและได้รับเงินจากหุ้นกู้ดังกล่าวรวมจำนวน 10,698.40 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ชำระสินเชื่อและเงินกู้ยืมจากธนาคาร รวมถึงชำระคืนตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มกิจการ บริษัทได้นำเงินส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระสินเชื่อและเงินกู้ยืมจากธนาคาร
อย่างไรก็ดี ผู้สอบบัญชีตรวจพบความผิดปกติหลายรายการและยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้เงินที่ได้รับจาก STARK ของทั้งสองกิจการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการออกหุ้นกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานตามปกติของแต่ละบริษัทหรือไม่
1.2. การใช้เงินเพิ่มทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)
ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบว่า บริษัทซึ่งดำเนินการภายใต้การบริหารของผู้บริหารชุดเดิม ได้นำเงินจากการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อไปชำระ Letter of credit สำหรับเจ้าหนี้การค้าเพื่อซื้อวัตถุดิบจำนวน 4,071 ล้านบาท และชำระคืนหุ้นกู้ ชุดที่ 3 (STARK23206A) พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,509 ล้านบาทในปี 2566 ตามที่ปรากฏในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2565 ของบริษัท
2. บริษัท เฟ้ลปส์ดอดจ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)
ผู้สอบบัญชีตรวจพบธุรกรรมทางการเงิน หรือการบันทึกรายการทางการเงินที่ไม่เกิดขึ้นจริง หรือธุรกรรมที่ไม่ตรงกับรายการที่เกิดขึ้นจริง ธุรกรรมที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น การทำรายการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริงหรือที่ไม่ปรากฏเอกสารประกอบการขาย การบันทึกรายการรับชำระหนี้จากบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันที่ไม่ใช่ลูกหนี้ การทำรายการขายที่ไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้โอนเงินหรือชำระเงิน การทำรายการขายที่ไม่มีการยืนยันการรับสินค้าจากลูกค้า เป็นต้น
แม้ว่าบริษัทจะได้ขอรายการเดินบัญชีจากธนาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ แต่ข้อมูลในรายการเดินบัญชีธนาคารที่ได้รับมานั้นบางส่วนก็ไม่แสดงข้อมูลผู้โอนเงิน หรือผู้ชำระเงิน และมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากธนาคาร ดังนี้ จึงเกิดอุปสรรคในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ
นอกเหนือจากนี้ ผู้สอบบัญชียังตรวจพบในรูปแบบอื่น ๆ เช่น
-
การสั่งซื้อวัตถุดิบโดยที่ไม่ปรากฎเอกสารประกอบ หรือการโอนเงินให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันเพื่อซื้อวัตถุดิบที่ไม่ได้มีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นจริง หรือการบันทึกธุรกรรมเป็นการโอนเงินค่าวัตถุดิบ แต่ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นการโอนเงินให้แก่บริษัทอื่นหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน หรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้ขายวัตถุดิบ
-
การรับโอนเงินจากบริษัทที่ไม่เคยมีธุรกรรมระหว่างกัน หรือการรับโอนเงินจากบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันแต่มีการบันทึกบัญชีไม่สอดคล้องกับรายการที่เกิดขึ้น
-
การทำธุรกรรมกู้ยืมที่ไม่มีการบันทึกรายการเงินให้กู้ยืม เป็นต้น
ผู้สอบบัญชีตรวจพบรายการทางการเงินที่ผิดปกติในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 200 รายการ โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 8,000 ล้านบาทในปี 2565 และมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2564
3. บริษัท ไทย เคเบิล้ อินเตอรเนชั่นแนล จำกัด (TCI)
TCI มีการออกเอกสารการขายไม่มีหลักฐานการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าและมีรายการรับชำระเงินจากผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าของบริษัทซึ่งรายการที่ผิดปกติดังกล่าวมีมูลค่ารายการมากกว่า 3,000 ล้านบาท และมีการออกใบแจ้งหนี้โดยระบุให้ชำระเงินเข้าบัญชีของบุคคลธรรมดาแทนที่จะเป็นบัญชีของ TCI เป็นมูลค่ารวมมากกว่า 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ TCI ยังมีรายการจ่ายเงินเพื่อชำระเป็นค่าสินค้าและบันทึกเพิ่มรายการสินค้าคงเหลือ โดยที่ไม่มีหลักฐานการรับมอบสินค้าคงเหลือ ซึ่งรายการในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวน มากกว่า 2,000 ล้านบาท
4. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS)
ผู้สอบบัญชีได้ทำการตรวจสอบรายการทางการเงินที่สำคัญของ ADS ซึ่งรวมถึงรายการจ่ายค่าตอบแทนพนักงาน ซึ่งแม้ว่าผู้สอบบัญชีจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาบริการที่ ADS เข้าทำกับลูกค้า รายละเอียดบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน (Timesheet)และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ได้รับข้อมูลเพื่อทำการตรวจสอบรายการประมาณ 25% และไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบ รายการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานของ ADS ได้ โดยผู้สอบบัญชีได้ตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอื่น ๆ ของ ADS ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2565 และพบว่า ADS มีการรับรู้รายได้รายได้ค้างรับ ลูกหนี้การค้า ที่ไม่มีหลักฐานประกอบการท รายการ และพบว่ามีการบันทึกต้นทุนค่าแรงและต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนอีกด้วย
ในส่วนของ ADS จึงสามารถสรุปความเสียหายในเบื้องต้นจากการรับรู้ราย ได้ค้างรับที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ว่า ADS ได้รับความเสียหายจากการรับรู้มูลค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากกว่า 600 ล้านบาทในปี 2564และมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาทในปี 2565 และมีลูกหนี้การค้าที่สูงกว่าความเป็นจริงมากกว่า 800 ล้านบาทในปี 2565
อนึ่ง บริษัทขอเรียนว่าผลของการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-scope Special Audit) ระยะที่สองนี้ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากข้อมูลที่ได้เปิ ดเผยไว้ในงบการเงินประจำปี 2565 ของบริษัท และภายใต้การดำเนินการของฝ่ายจัดการชุดปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และระบบตรวจสอบภายในเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงให้มีระบบควบคุมกระบวนการทำงานและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ตลอดจนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการบริษัทให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องและสามารถบริหารบริษัทให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 66)
Tags: STARK, สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น, หุ้นไทย