นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตมีความจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำเสนอรายงานการศึกษาโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ตสายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง รวมระยะทาง 58.5 กม.ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ ปัจจุบันจ.ภูเก็ต มีปัญหาจราจรติดขัดและสภาพของกายภาพถนนที่กรมทางหลวง (ทล.) เตรียมก่อสร้างขยายถนนหลายสายโดยเฉพาะ ทล.402 ที่มีปัญหาติดขัดมาก ดังนั้นในส่วนของระบบขนส่งรางเบา (แทรมป์) อาจจะยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในขณะนี้และเห็นว่าอาจจะต้องรออีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะเริ่มดำเนินการเพื่อให้การปรับปรุงขยายถนนแล้วเสร็จก่อน
โดยในระหว่างนี้ให้การบ้าน รฟม.ไปปรับแผนการดำเนินงาน เช่น ศึกษารถไฟฟ้าแบตเตอรี่ด้วย (EV on Train) เพิ่มเติมเพื่อให้มีรูปแบบที่เหมาะสมและทันสมัยที่สุดรวมถึงประสานรูปแบบก่อสร้างกับกรมทางหลวงที่จะมีการขยายถนนด้วย
นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและไม่แพงเกินไปสำหรับประชาชนในพื้นที่เนื่องจากตามแนวเส้นทางนี้มีผู้โดยสารได้ประโยชน์ 2 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยวเดินทางจากสนามบินสู่แหล่งท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ที่สามารถใช้เดินทางทุกวัน ดังนั้นหากสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สมเหตุสมผลและมีรายได้หลักเพียงพอต่อโครงการก็จะสามารถกำหนดค่าโดยสารกลุ่มประชาชนในพื้นที่ถูกลงได้ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ตอนแรกคิดว่าควรสร้างยกระดับ แต่จากที่ได้ลงพื้นที่จ.ภูเก็ตพบว่ากายภาพบางช่วงถนนมีพื้นที่แคบการปักเสาโครงสร้างลงไปจะมีผลกระทบมากกว่าจึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกับถนน โดยให้ประสานกับจังหวัดภูเก็ตและใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยในการจัดจราจรในเขตเมืองให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณจราจรและมีความปลอดภัยโดยหลักคือจะให้ความสำคัญกับระบบรางก่อน”
นายสุริยะ กล่าว
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า รฟม.รับนโยบายรมว.คมนาคม ไปศึกษาเพิ่มเติมโดยการกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้นในการศึกษาเบื้องต้นได้กำหนดราคาไว้ 2 กลุ่มแล้ว โดยโครงการระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลองมี 21 สถานี ระยะทางประมาณ 41.7 กม.นั้นจะมีช่วงจาก ทล.402 เข้าเมืองกว่า 30 กม.และช่วงแยก ทล.402 เข้าสนามบินภูเก็ตมี 1 สถานี
โดยเบื้องต้นกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายกรณีเดินทางขึ้น-ลงสถานีรายทางหรือจากสถานีเมืองใหม่-สถานีฉลอง(โดยไม่เข้าสนามบินภูเก็ต), ส่วนกรณีเดินทางขึ้น-ลงที่สนามบินภูเก็ตจะกำหนดอัตรา Surcharge ซึ่งกำลังพิจารณาอัตราเพิ่มที่ 30-50 บาททั้งนี้การยืดระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 2 ปีนั้นอาจจะส่งผลต่อก่อสร้างที่อาจจะมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ 5-10%
“แนวเส้นทางไม่เปลี่ยนแต่จะดูรูปแบบกรณีผ่านถนนทล.402 จุด ทางแยกทางต่างระดับระบบแทรมป์จะเป็นทางลอดและคาดว่าจะเป็นแทรมป์ล้อเหล็กสำหรับระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพิษณุโลกนั้นจะรอการพัฒนาที่จังหวัดภูเก็ตให้ชัดเจนก่อนค่อยเดินหน้า”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 66)
Tags: กระทรวงคมนาคม, ขนส่งทางราง, ขนส่งมวลชน, ภูเก็ต, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ