ราคาหุ้น DELTA ร่วงลง 10.34% หรือลดลง 10.75 บาท มาที่ 93.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,756.30 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.01 น.จากราคาเปิด 95.25 บาท ราคาสูงสุด 96.75 บาท ราคาต่ำสุด 91.50 บาท ทั้งนี้ ราคาหุ้น DELTA วานนี้ (28 ก.ย.) ปิดที่ 104.00 บาท
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทแม่ของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) ได้ขายหุ้นจำนวน 89.2 ล้านหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในราคาหุ้นละ 94.75 บาทต่อหุ้น โดยเป็นการซื้อขายบิ๊กลอต (Big Lot)ราคาเสนอขายขั้นสุดท้ายมีส่วนลดอยู่ที่ประมาณ 8.9% จากราคาปิดตลาดของหุ้นเดลต้าเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) และมอบหมายให้ธนาคารเจพีมอร์แกนเป็นตัวแทนในการทำข้อตกลงขายหุ้นในครั้งนี้
บล.ทรีนีตี้ ระบุ การปรับตัวลงเกิดจากดีลการทำ Placement หุ้น DELTA ที่ราคา 94.75 บาท เป็นจำนวน 89.2 ล้านหุ้น (0.72% ของหุ้นจดทะเบียน) เพื่อเพิ่มจำนวน Free float และเพื่อเพิ่มระดับ Turnover ratio เดือนนี้ของตัวหุ้นให้ขึ้นมาเกินกว่าเกณฑ์ 2% ขั้นต่ำสำหรับการดำรงอยู่ของตัวหุ้นในดัชนี SET50 และ SET100 ถือเป็นการต่อลมหายใจไปอีกเดือนหนึ่ง จากที่ก่อนหน้านี้เดือนสิงหาคม Turnover ratio ของหุ้น DELTA นี้สามารถขึ้นมาอยู่สูงกว่าเกณฑ์ 2% นี้ไปเพียงแค่ 0.2% และข้อมูลล่าสุดในเดือนนี้ ณ เมื่อวาน อยู่เพียงแค่ระดับ 1.29% เท่านั้น
เราได้มีการคำนวณ Sensitivity ของราคาหุ้น DELTA ที่จะมีต่อดัชนี SET และ SET50 ในวันนี้ หากราคาหุ้นปรับตัวลงมาในแต่ละช่วง โดยหากราคา DELTA ลงมาแถวบริเวณ 95 บาทซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับราคาที่ทำดีลเมื่อคืนนี้ จะได้ว่าถ้าราคาหุ้นตัวอื่นๆ เท่าเดิม SET Index จะปรับลงในวันนี้ได้ 0.6% มาอยู่ที่ 1,473.0 จุด และ SET50 จะปรับลงได้ 0.9% มาอยู่ที่ 901.6 จุด ยังเหลือช่องว่างของดัชนี SET ในหุ้นอื่นๆลงมาอีก 10 จุด ทำให้เรามั่นใจในวันนี้ว่าดัชนี SET จะไม่หลุดจุดต่ำสุดเดิมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ที่บริเวณ 1,460 จุด
Valuation checkup: ยังคงมองว่าในช่วง 1 เดือนข้างหน้านี้ หากเห็น SET Index ต่ำกว่าบริเวณ 1,500 จุด ถือเป็นโซนที่น่าสนใจในการเข้าสะสมหุ้นได้ โดยในเชิงของ Valuation หากเราใช้มาตรวัด PE ของตลาดหุ้นไทยที่ตัดหุ้น DELTA ออกไป จะพบว่าได้มีการปรับลดลงมาสู่ค่าเฉลี่ยเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน หากเราใช้มาตรวัด PBV ซึ่งมักมีเสถียรภาพในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง โดยยึดสถิติในอดีตที่เราเคยทำการศึกษามาพบว่า ค่าเฉลี่ย PBV ตลาดหุ้นไทยที่จุดต่ำสุดในแต่ละรอบนั้น มักจะอยู่ที่ระดับ 1.39x ซึ่งหากนำมาคูณกับระดับ BVPS ของดัชนี SET ณ ปัจจุบันที่ 1055.8 จะได้ระดับ Downside ของ SET อยู่ที่ 1468 หรือเป็นระดับที่อยู่ต่ำกว่าปัจจุบันเพียงไม่ถึง 1% แล้ว
สำหรับประเด็น DELTA นั้น เป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจำนวน Free float ในตลาดที่จะเพิ่มสูงขึ้น จะนำมาสู่ปริมาณการซื้อขายของตัวหุ้นที่สูงขึ้นด้วยในช่วงเดือนต.ค.และเดือนพ.ย.หรือไม่ หากสูงขึ้นและทำให้ Turnover ratio ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายอยู่สูงกว่าเดือนละ 2% ก็คาดว่าสุดท้ายแล้ว DELTA จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปในดัชนี SET50 และ SET100 ได้
ในทางกลับกัน หากมีเดือนใดเดือนหนึ่งที่ไม่สามารถทำ Turnover ratio ได้ถึง 2% ตัวหุ้น DELTA ก็จะหลุดออกจากดัชนีสำคัญในรอบถัดไปทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีจำนวนทั้งหมด 3 เดือนแล้วที่ตัวหุ้นไม่ถูกนับข้อมูลการซื้อขาย นั่นก็คือเดือนเมษายน มิถุนายน และกรกฎาคม จากการติดเกณฑ์เชิงคุณภาพที่ตัวหุ้นถูกขึ้นบัญชี Trading alert list นั่นเอง
ไม่ว่าสุดท้าย DELTA จะหลุดหรือไม่หลุดจากดัชนี SET50/SET100 ตัวหุ้นที่เราคำนวณแล้วพบว่ามีโอกาสเข้าสู่การคำนวณดัชนี SET50 ในรอบถัดไปแล้วแน่ๆ ก็คือหุ้น JMT ซึ่ง ณ วันนี้มี Market cap เฉลี่ยขึ้นมายืนแถวอันดับที่ 46 เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้ง Volume การซื้อขายที่หนาแน่นไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด หากสุดท้าย DELTA ไม่หลุด คาดว่าจะเป็นหุ้น TIDLOR ที่ถูกถอดออกจาการคำนวณดัชนี SET50 เพื่อหลีกทางให้ JMT เข้ามาแทน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 66)
Tags: DELTA, หุ้นไทย, เดลต้า อีเลคโทรนิคส์