ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิม 3.6% เนื่องจากปัจจัยลบที่สำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 2/66 ชะลอตัวกว่าที่คาด, มูลค่าการส่งออกของไทยยังปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
โดย ม.หอการค้าไทย ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยในปีนี้ จะหดตัว -2% จากเดิมคาดโต 1.2%, การนำเข้า หดตัว -2.5% จากเดิมคาดโต 2.2%, อัตราเงินเฟ้อ 1.8% จากเดิมคาด 3.0%, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้านคน จากเดิมคาด 22 ล้านคน และหนี้ครัวเรือน อยู่ที่ระดับ 89.5%
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถานเป็นการชั่วคราว 5 เดือน, การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น, การนำเข้าสินค้าลดลง และรัฐบาลชุดใหม่ที่มีมาตรการเร่งด่วนออกมาช่วยเหลือประชาชน
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน เกษตรกร รวมถึงการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการว่า หากรวมทั้ง 3 มาตรการเร่งด่วน คือ การลดค่าไฟฟ้า ลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย, การปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาท/ลิตร และการพักชำระหนี้ให้เกษตรกร 2.7 ล้านราย รวมยอดหนี้ 2.83 แสนล้านบาทนั้น ทั้ง 3 มาตรการนี้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ช่วยประหยัดรายจ่ายลงไปได้รวมแล้วประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะมาตรการลดค่าไฟฟ้า ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนลงได้มากถึง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากมาตรการลดค่าครองชีพทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว จะทำให้เม็ดเงินในส่วนนี้ สามารถผันกลับมาเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น มีผลต่อมูลค่า GDP ราว 7.2 หมื่นล้านบาท และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.43%
“จากทั้ง 3 มาตรการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายนี้ ทำให้ประหยัดเงินของประชาชนลงไปได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อ GDP ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ได้เป็นมูลค่าประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น GDP ที่จะเพิ่มขึ้น 0.43% โดยสาขาที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากมาตรการ Quick win นี้ คือ การผลิตภาคอุตสาหกรรม, การขายส่ง-ขายปลีก และสาขาบริการอื่นๆ” นายวิเชียร ระบุ
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.0% ซึ่งลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.6% โดย 0.6% ที่หายไปนั้น เป็นผลมาจากภาคการส่งอออกสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญ รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนที่หายไป นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงจากผลของการลงทุนภาครัฐที่หายไปในช่วงที่ผ่านมาด้วย แต่เศรษฐกิจไทยยังโชคดีที่ได้เรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเสริม
“ตอนนี้เราให้ไว้ที่ 3% เป็น bottom ไปก่อน เพราะต้องรอดดูแนวนโยบายของรัฐบาลในช่วงใกล้ปีใหม่ที่อาจจะออกมาเพิ่มเติม และรัฐบาลอาจจะสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มเติมผ่านการไปโรดโชว์ การส่งเสริมการลงทุน เรารอดูว่ารัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นและความโดดเด่นได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังอึมครึมไม่ชัดเจน เราจึงยังสงวนไว้เพื่อรอดูอีก 1 ไตรมาส แต่เรามองว่าจะเป็น upside ความเชื่อมั่นประชาชนน่าจะเริ่มดีขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ม.หอการค้าไทย ยังประเมินในเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ โดยจะสามารถขยายตัวได้ 4.5-5% หรือค่ากลางที่ 4.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.5-3% แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%
นายธนวรรธน์ เชื่อว่าการที่เศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตได้ดีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินที่จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาทถ้าเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของประชาชนเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบ ประกอบกับสัญญาณด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นมากขึ้น โดยคาดว่าปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยถึง 35 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากรายได้การท่องเที่ยว
“เม็ดเงินในการใช้จ่ายของประชาชนจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะเข้ามาสะพัดในระบบเศรษฐกิจประมาณไตรมาส 2 ของปี 67 เรามองว่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้อีก 2%” นายธนวรรธน์ ระบุ
พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่าในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลช่วง 4 ปีจากนี้ จะช่วยทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ต่อ GDP ได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ให้แก่ทั้งภาคประชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจ ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 80% ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (27 ก.ย.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.50% ว่า ถือว่าเซอร์ไพร์สตลาดพอสมควร ทั้งนี้ เชื่อว่าการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ กนง.ให้น้ำหนักในประเด็นที่ช่วงนี้เงินไหลออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยแก้ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศแคบลง ช่วยลดกรณีที่เงินจะไหลออกไปต่างประเทศ ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนการออมในระยะยาว
“คิดว่า กนง.คงจะได้ข้อมูลในเชิงลึกมาว่า การขึ้นดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่ในด้านของประชาชนอาจจะมองไม่เห็น เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของ กนง.ในส่วนนี้…นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว จึงทำให้ กนง.กล้าตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศยังไปได้ และภาคธุรกิจยังสามารถรับได้” นายธนวรรธน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 66)
Tags: GDP, การส่งออก, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย