สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หัวเว่ย (Huawei) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมจีน เข้าร่วมพัฒนาระบบเครือข่ายแบบบูรณาการสำหรับทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย และนครบันดุง เมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก ซึ่งเปิดให้บริการใหม่
หัวเว่ยร่วมมือกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอมมูนิเคชันส์ แอนด์ ซิกแนลลิง จำกัด (CRSC) และไชน่า เทเลคอม (China Telecom) สร้างระบบการสื่อสารและควบคุมแบบเรียลไทม์ และจัดการเดินทางด้วยรถไฟที่มีการสนับสนุนทางเทคนิค เพื่อทำให้ทางรถไฟสายนี้มีการปฏิบัติงานที่อัจฉริยะ, ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.) นายไล่ เฉาเซิน รองประธานฝ่ายการจัดส่งและบริการ ประจำหัวเว่ย อินโดนีเซีย (Huawei Indonesia) แถลงข่าวที่สถานีฮาลิมของทางรถไฟฯ ในกรุงจาการ์ตาว่า เครือข่ายการสื่อสารมีบทบาทสำคัญในระบบควบคุมปฏิบัติการรถไฟความเร็วสูง หัวเว่ยมีประสบการณ์ในการสร้างเครือข่ายการสื่อสารแบบบูรณาการสำหรับทางรถไฟความเร็วสูง ด้วยระบบความปลอดภัยชั้นยอด และความจุปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มีระบบปฏิบัติการและบำรุงรักษาที่ง่ายต่อการใช้งาน
นายไล่กล่าวว่า ตามที่เราทราบกันดี รถไฟความเร็วสูงมักวิ่งด้วยความเร็วสูงและมีระยะเวลาการเดินทางที่สั้น เราจึงต้องทำให้มั่นใจว่ารถไฟความเร็วสูงจะสามารถวิ่งได้อย่างปลอดภัย ราบรื่น และมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายไล่เสริมว่า หัวเว่ยมีโซลูชันจำนวนมาก อาทิ ระบบส่งสัญญาณไร้สายจากรถไฟสู่พื้นดิน การส่งสัญญาณ และเครือข่ายข้อมูลสำหรับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งโซลูชันเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อถือได้สำหรับระยะปฏิบัติการของรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้ ทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ระยะทาง 142 กิโลเมตร เป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างอินโดนีเซียและจีน โดยย่นเวลาการเดินทางระหว่างสองเมืองนี้เหลือเพียงราว 40 นาที จากเดิมที่นานกว่า 3 ชั่วโมง ด้วยความเร็วออกแบบสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: XINHUA, รถไฟความเร็วสูง, หัวเว่ย, อินโดนีเซีย