หากผู้ใช้ไฟฟ้าเช่นโรงงานอุตสาหกรรมประสงค์จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร (Carbon Footprint Organization หรือ “CFO”) โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน
เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ประสงค์จะลงมือผลิตไฟฟ้าเอง แต่เลือกที่จะ “ซื้อ” พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน หรือใช้หลักฐานอื่นช่วยนำมาลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานในองค์กรของตนจาก “ผู้ขาย” แล้ว คำถามที่ตามมาก็คือสัญญาซื้อขายที่จะเกิดขึ้นนั้นวัตถุอันเป็นทรัพย์สินที่จะมีการซื้อขายและส่งมอบกันนั้นคืออะไร
บทความนี้จะวิเคราะห์รูปแบบของสัญญาซื้อไฟฟ้าสามรูปแบบ ได้แก่ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิต ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงาน (Self-Consumption On Site) , สัญญาซื้อขายเอกสารรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้า (Purchase of Guarantee of Origin) และ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลาง โดยจะมุ่งตอบคำถามว่าผู้ซื้อจะ “ได้อะไร” จากเงินที่จ่ายไป และสิ่งที่รับการส่งมอบมานั้นจะนำมาใช้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานขององค์กรได้หรือไม่
ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถเลือกที่จะรับซื้อ “พลังงานไฟฟ้า” ที่ผลิตโดยระบบผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนซึ่งถูกติดตั้งและใช้งานในโรงงานของตนเอง เช่น อนุญาตให้ผู้ขาย (เช่น บริษัทที่ให้บริการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน) ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้กับงานหลังคาโรงงาน หรือติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำในบ่อน้ำของโรงงาน
ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากระบบดังกล่าวให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบโครงข่ายภายในโรงงาน (หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นแบบ “Private Grid”) ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะมีสถานะเป็นผู้ซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ถูกส่งมอบเพื่อใช้ภายในโรงงาน และมีหน้าที่ชำระราคาค่าพลังงานไฟฟ้าที่รับมอบ (เช่น อาจจะระบุว่าจะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้) โดยที่ผู้ซื้อยังอาจซื้อพลังงานไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ควบคู่ไปด้วย
สัญญาที่เป็นฐานในการกำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ขายไฟฟ้าข้างต้นมีสารัตถะเป็น “สัญญาซื้อขาย” ตามที่บัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 453 ซึ่งบัญญัติว่าซื้อขายนั้น คือ “สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย” ผู้ขายมีหน้าที่ตามมาตรา 461 ต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ โดยการ “ส่งมอบ” หมายถึง การทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อตามมาตรา 462
การซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นและถูกส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงาน จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า (ในกรณีนี้คือโรงงานอุตสาหกรรม) ได้รับ “การส่งมอบ” พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ขาย การส่งมอบพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวสามารถดำเนินการผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ติดตั้งและใช้งานกันเองภายในโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่มีการจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. หรือ กฟภ. ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์ในพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ว่าให้โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อใด
นอกเหนือจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงานแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมยังอาจต้องการไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้โดยผู้ขายในบริเวณโรงงานของตนนั้นยังมีปริมาณไม่เพียงพอ โรงงานอุตสาหกรรมยังมีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope II (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน) อยู่ คำถามคือผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมในกรณีนี้ยังสามารถจะ “ซื้อ” อะไรมาเพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานได้อีก
กรณีมีตัวอย่างในทางปฏิบัติ เช่น การทำสัญญาระหว่าง Ajinomoto Co., (Thailand) Ltd. กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) Ajinomoto ออกประกาศในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565 ว่าทางบริษัทได้ทำสัญญากับ กฟผ. ที่จะ “ซื้อ” และ “ใช้” พลังงานหมุนเวียน (Purchasing and Use of Renewable Energy) โดยมีปริมาณเทียบเท่ากับ 160,000 RECs (At the Amount of 160,000 RECs) โดยสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดย กฟผ. ส่งมอบ RECs จำนวน 160,000 หน่วยให้กับ Ajinomoto อีกด้วย
จากสัญญาระหว่าง Ajinomoto กับ กฟผ. ข้างต้น สิ่งที่ กฟผ. ส่งมอบให้ Ajinomoto นั้นได้แก่ “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน” (ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอบทวิเคราะห์เอาไว้ใน EP.37 ของ Power of The Act แล้วว่าเป็นสัญญามิได้ถูกห้ามโดยกฎหมายและโดยหลักแล้วคู่สัญญามีเสรีภาพในการกำหนดเนื้อหาของสัญญา) กล่าวได้ว่าสัญญาซื้อขายในกรณีนี้จะมีทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของสัญญาต่างไปจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิต ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงาน (Self-Consumption On Site) ที่ได้กล่าวในหัวข้อก่อนหน้านี้ เนื่องจากสิ่งที่ผู้ขายส่งมอบให้ผู้ซื้อ คือ ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่ถูกสร้างขึ้นตามมาตรฐานสากลอันเป็นหลักฐานรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้า (Guarantee of Origin) ที่ Ajinomoto รับมอบจาก กฟผ. สามารถถูกนำไปอ้างสิทธิการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้ Ajinomoto สามารถนำเอา RECs ที่ซื้อมานำมาเป็นส่วนลดการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope II โดยจำนวน RECs ที่ซื้อมานั้นจะเป็นการลดข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) ในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น และสามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง (Conventional Grid)
ผู้เขียนขอตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าการรับเอาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในพื้นที่โรงงานตามที่ได้อธิบายในหัวข้อแรก และการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนตามที่ได้อธิบายในหัวข้อที่สอง ยังไม่อาจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการใช้พลังงานขององค์กรได้ทั้งหมด (กล่าวคือยังมีกิจกรรมที่นับได้ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่เนื่องจากยังมีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมจะสามารถซื้อและรับเอาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ขายรายอื่น โดยรับมอบพลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้หรือไม่
กล่าวคือ ต้องการซื้อและรับมอบพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจริงเพื่อให้สามารถประกาศได้ว่าโรงงานใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เช่น ประสงค์จะประกาศว่าเป็น “Factory Powered by 100% Renewable Energy” (เช่น Hyundai Motor Company ได้ออกประกาศในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2565 มีข้อความว่า “Gone green: Hyundai’s First Factory Powered by 100% Renewable Energy”) โดยที่ผู้ขายไฟฟ้านั้นอาจจะไม่ได้มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นของตัวเอง แต่จะใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. เพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรม
ในมิติทางกฎหมาย เราอาจตั้งคำถามก่อนว่าโรงงานอุตสาหกรรมในกรณีนี้ “มีสิทธิ” ที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ขายโดยรับมอบพลังงานไฟฟ้าจากผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (ซึ่งมิใช่ผู้ขาย) ได้หรือไม่ ในต่างประเทศกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการไฟฟ้าสามารถถูกพัฒนาให้รองรับสิทธินี้อย่างชัดเจน เช่น มาตรา 42(3) แห่ง Electricity Law 2003 ของประเทศอินเดีย มีบัญญัติรับรองทางเลือกของผู้ใช้ไฟฟ้าในการเลือก “ซื้อไฟฟ้าจากบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของระบบจำหน่าย” (A Supply of Electricity from a Generating Company or Any Licensee Other than Such Distribution License) ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายของประเทศอินเดียมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายให้ “ส่งผ่าน (Wheeling)” พลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิต โดยที่มาตรา 42(4) แห่ง Electricity Law 2003 ยังได้บัญญัติต่อไปว่าผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายจะกลายเป็นผู้ขนส่งไฟฟ้า (Carrier) โดยผู้ใช้ไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม (Additional Surcharge) ซึ่งคิดขึ้นจากต้นทุนคงที่ (Fixed-Cost) ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ของไทยยังไม่มีบทบัญญัติรับรองสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะมีทางเลือกดังกล่าว เนื่องจากมาตรา 81 ยังคงบัญญัติเพียงผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตนเท่านั้น กล่าวคือรับรองเพียงสิทธิของฝั่งผู้ผลิตที่เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานในการขอใช้และเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เท่านั้น
ผู้เขียนจึงเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 รับรองสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าให้ชัดเจนต่อไป โดยจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้าและความมั่นคงแน่นอนของระบบไฟฟ้าของประเทศควบคู่กัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการพัฒนาของกฎหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว เราควรวิเคราะห์กันต่อไปว่าหากจะมีการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลาง (เช่น ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้า) ขึ้น เช่น การทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Sandbox) แล้วสัญญาดังกล่าวจะมีสารัตถะอย่างไรและสิ่งที่จะส่งมอบคืออะไร
สัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลางสามารถทำขึ้นโดยกำหนดหน้าที่ให้ผู้ขายไฟฟ้ามีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน (และต้องรับรองว่าจะผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนอยู่ตลอดระยะเวลาของสัญญา) และมีหน้าที่นำเอาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จ่ายเข้าระบบโครงข่ายของ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. (ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขนส่ง) ณ จุดรับมอบพลังงานไฟฟ้า
ตัวกลางมีหน้าที่นำเอาพลังงานไฟฟ้าไปส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ จุดส่งมอบพลังงานไฟฟ้า (โดยมีการทำสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายหรือ Wheeling Service Agreement อีกสัญญาหนึ่ง) เมื่อผู้ซื้อรับมอบพลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายแล้ว ผู้ซื้อไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าพลังงานไฟฟ้าให้กับตัวกลาง (ซึ่งจะเรียกเก็บเงินแทนผู้ผลิต) การซื้อและรับการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในกรณีนี้จะช่วยให้ผู้ซื้อสามารถนำเอาปริมาณการซื้อและรับมอบพลังงานไฟฟ้ามาใช้เพื่อคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานได้
โดยมีข้อสังเกตว่าการซื้อพลังงานไฟฟ้าผ่านตัวกลางในกรณีนี้ จะไม่เป็นการห้ามมิให้ผู้ซื้อที่จะซื้อ RECs จากผู้ขายไฟฟ้าหรือซื้อ RECs จากผู้ผลิตไฟฟ้าอื่นที่อาจไม่ได้ขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อ และไม่จำกัดสิทธิของผู้ซื้อไฟฟ้าในการซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงานเองควบคู่กัน
โดยสรุป จะเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิต ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงาน (Self-Consumption On Site) สัญญาซื้อขายเอกสารรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้า (Purchase of Guarantee of Origin) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลางนั้นมี “ทรัพย์สิน” อันเป็นวัตถุที่ผู้ขายต้องส่งสอบและการปฏิบัติการชำระหนี้แตกต่างกัน ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิต ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงาน (Self-Consumption On Site) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลางนั้น “สิ่งที่” ผู้ซื้อจะได้รับได้แก่ “พลังงานไฟฟ้า” ในขณะที่ตามสัญญาซื้อขายเอกสารรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้า (Purchase of Guarantee of Origin) นั้น “สิ่งที่” ผู้ซื้อจะได้รับคือเอกสารรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้า
ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิต ณ สถานที่ของผู้ใช้พลังงาน (Self-Consumption On Site) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านตัวกลางนั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า การผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้านั้นเป็นการดำเนินการส่งพลังงานไฟฟ้าโดยอาศัยระบบภายในโรงงานอุตสาหกรรมเองจึงสามารถควบคุมมิให้มีพลังงานไฟฟ้าอื่น (ที่อาจจะผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) มาปะปนได้
แต่ในกรณีการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าผ่านตัวกลาง เช่น ให้ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. ทำหน้าที่ส่งผ่านพลังงานไฟฟ้ามายังผู้ซื้อนั้น พลังงานไฟฟ้าที่รับมอบและมีการใช้จริงอาจมีส่วนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาปะปนอยู่ได้ เช่น กรณีที่ตัวกลางไม่ได้มีการจัดสรรระบบโครงข่ายไฟฟ้าเอาไว้สำหรับการส่งผ่านไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะ กรณีนี้จะเกิดคำถามขึ้นต่อไปว่า ผู้ซื้อจะยังสามารถนับเอาพลังงานไฟฟ้าที่รับการส่งมอบเพื่อคำนวณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการใช้พลังงานได้หรือไม่ เราจะหาคำตอบกันต่อไปใน Power of The Act EP ถัดไป
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: Power of The Act, SCOOP, ซื้อขายไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน