In Focus: “แคนาดา-อินเดีย” ร้าวฉานเซ่นปมสังหารผู้นำชาวซิกข์ ย้อนกรีดแผลเก่า 40 ปีก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับอินเดียได้กลายเป็นที่จับตา เมื่อทั้งสองประเทศเกิดข้อพิพาทเรื่องการสังหารผู้นำชาวซิกข์บนดินแดนแคนาดา

ย้อนกลับไปเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ (Hardeep Singh Nijjar) นักเคลื่อนไหวชาวซิกข์ในแคนาดา ถูกลอบยิงเสียชีวิตกลางลานจอดรถหน้าวัดซิกข์แห่งหนึ่งในเมืองเซอร์เรย์ รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา

นายนิจจาร์เป็นพลเมืองแคนาดาและเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการขาลิสถาน (Khalistan) โดยเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนอินเดีย เขาถูกรัฐบาลอินเดียประกาศให้เป็นผู้ก่อการร้าย และถูกตั้งค่าหัวถึง 10 ล้านรูปี

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดาเปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียอาจอยู่เบื้องหลังเหตุยิงสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ โดยแคนาดากำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนคดีดังกล่าว

นายกฯ ทรูโดระบุว่า หน่วยข่าวกรองแคนาดาพบหลักฐานที่เชื่อถือได้ซึ่งเชื่อมโยงเหตุสังหารนายนิจจาร์กับรัฐบาลอินเดีย และได้เอ่ยถึงประเด็นนี้กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดียไปแล้วในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ณ กรุงนิวเดลีเมื่อไม่นานมานี้

“การที่รัฐบาลต่างชาติเกี่ยวพันกับเหตุสังหารพลเมืองแคนาดาบนผืนแผ่นดินแคนาดานั้นถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของเราชนิดที่ไม่อาจยอมรับได้” นายกฯ ทรูโดกล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแคนาดาเมื่อวันที่ 18 ก.ย.

“กรณีดังกล่าวขัดแย้งกับกฎระเบียบพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่เสรีและเปิดกว้าง”

อย่างไรก็ตาม อินเดียยืนกรานปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุสังหารนายนิจจาร์มาโดยตลอด พร้อมวิจารณ์ข้อกล่าวหาของผู้นำแคนาดาว่า “ไม่มีมูล” และยังโต้กลับว่า แคนาดาเองก็เป็นฝ่ายที่ให้ที่พักพิงแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอินเดีย และยังไม่ได้ดำเนินการมากพอที่จะขัดขวางการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วย

“ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานดังกล่าวพยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการที่ผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงขาลิสถาน ซึ่งได้ที่พักพิงในแคนาดานั้น ยังคงคุกคามอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอินเดียอย่างต่อเนื่อง การที่รัฐบาลแคนาดาไม่ดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้ ได้กลายเป็นข้อกังวลที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน” กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระบุ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศถูกจับตา เพราะต่างฝ่ายต่างขับไล่นักการทูตออกไป ขณะที่อินเดียได้ประกาศระงับการดำเนินการขอวีซ่าสำหรับชาวแคนาดาเช่นกัน

** ใครคือ “ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์”

การลอบสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ทำให้ชุมชนชาวซิกข์ในแคนาดารู้สึกไม่พอใจ แต่การที่ผู้นำแคนาดานำประเด็นนี้มากล่าวหาว่าอินเดียอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ได้กลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในระดับโลก แล้วฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ชายผู้เป็นหัวใจหลักของข้อพิพาทนี้คือใคร

ฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ เกิดเมื่อปี 2520 ที่เมืองชลันธร (Jalandhar) ในรัฐปัญจาบทางตอนเหนือของอินเดีย โดยเขาได้ย้ายไปอยู่แคนาดาเมื่อปี 2540 ซึ่งเขาได้แต่งงาน มีบุตรชายสองคน และทำงานเป็นช่างประปา ก่อนที่จะกลายเป็นพลเมืองแคนาดาเต็มตัวในปี 2550

นายนิจจาร์ได้ตั้งรกรากในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ขณะเดียวกันก็สร้างชื่อให้ตนเองในฐานะผู้สนับสนุนการก่อตั้งขาลิสถาน เพื่อเป็นบ้านให้กับชาวซิกข์แยกออกจากอินเดีย ซึ่งชาวซิกข์เป็นชนกลุ่มน้อยที่คิดเป็น 2% ของประชากรอินเดีย

ทางการอินเดียได้ประกาศให้นายนิจจาร์เป็นผู้ก่อการร้าย โดยนายนิจจาร์ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้บงการ” เบื้องหลังกองกำลังพยัคฆ์ขาลิสสถาน (Khalistan Tiger Force) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ถูกสั่งห้ามในอินเดีย

นายนิจจาร์ถูกยิงเสียชีวิตขณะอายุได้ 45 ปี โดยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดตัวเขาต่างออกมาบอกว่า เขาเคยถูกทางการแคนาดาเตือนมาแล้วว่าสถานการณ์ความปลอดภัยของเขาน่าเป็นห่วง

ผู้สนับสนุนนายนิจจาร์เปิดเผยว่า นายนิจจาร์เรียกร้องเอกราชของชาวซิกข์โดยยึดแนวทางสันติวิธีมาตลอด โดยงานศพของเขามีผู้เข้าร่วมกว่าหลายร้อยคน ทว่าในอินเดียนั้น นายนิจจาร์ถูกทางการอินเดียหมายหัวเพราะต้องสงสัยในหลายคดี รวมถึงเหตุระเบิดในโรงภาพยนตร์ในรัฐปัญจาบเมื่อปี 2550 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและบาดเจ็บ 40 ราย และการลอบสังหารนักการเมืองอินเดียชาวซิกข์อย่าง รุลดา ซิงห์ (Rulda Singh) ด้วย

นอกจากนี้ ทางการอินเดียยังได้กล่าวหาว่า นายนิจจาร์มีส่วนในการเปิดค่ายฝึกอบรมผู้ก่อการร้ายในรัฐบริติชโคลัมเบีย เพื่อก่อเหตุโจมตีในอินเดีย และประกาศรางวัลถึง 1.2 ล้านดอลลาร์หากมีผู้ให้เบาะแส และที่ผ่านมานั้น อินเดียเคยแจ้งทางการแคนาดาเอาไว้แล้วเกี่ยวกับพฤติกรรมของชายผู้นี้ แต่นายนิจจาร์ไม่เคยถูกตั้งข้อหาใด ๆ

ด้านนายนิจจาร์เคยเขียนจดหมายถึงนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองมาแล้ว โดยสื่อแคนาดารายงานเนื้อหาในจดหมายฉบับนั้นว่า นายนิจจาร์อ้างตัวว่าเป็นผู้สนับสนุนสิทธิของชาวซิกข์ แต่ไม่เชื่อ ไม่เคยสนับสนุน และไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงใด ๆ

ในช่วงที่นายนิจจาร์เสียชีวิตนั้น เขากำลังวางแผนจัดให้มีการลงประชามติโดยไม่มีข้อผูกมัด สำหรับชาวซิกข์ที่อาศัยอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบีย เพื่อสถาปนารัฐเอกราชในอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโดยกลุ่มซิกข์ส ฟอร์ จัสติซ (Sikhs for Justice) ในสหรัฐ ซึ่งถูกแบนในอินเดีย

** เปิดแผลเก่าเกือบ 40 ปีก่อน

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวซิกข์เป็นชนวนเหตุความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับอินเดียมายาวนานแล้ว เพราะชาวซิกข์ที่เป็นสมาชิกขบวนการเหล่านี้อาศัยในแคนาดาเป็นจำนวนมาก จากนั้นสถานการณ์ก็ย่ำแย่ลงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อนายกฯ แคนาดา อ้างว่ารัฐบาลอินเดียอยู่เบื้องหลังการสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แคนาดาและอินเดียก็เคยมีประเด็นถกเถียงกันมาแล้ว โดยย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีก่อน

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2528 เที่ยวบินหนึ่งของสายการบินแอร์ อินเดีย (Air India) เส้นทางแคนาดา-อินเดีย ได้เกิดระเบิดขึ้นนอกชายฝั่งไอร์แลนด์ ส่งผลให้ทั้ง 329 คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุมาจากระเบิดในกระเป๋าเดินทางใบหนึ่งที่ถูกขนขึ้นเครื่อง แม้ตัวผู้โดยสารเจ้าของตั๋วจะไม่ได้ขึ้นเครื่องก็ตาม โดยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ประกอบด้วยพลเมืองแคนาดา 268 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายอินเดีย และพลเมืองอินเดีย 24 คน

เจ้าหน้าที่สืบสวนฝั่งแคนาดาอ้างว่าเหตุระเบิดดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ ที่ต้องการเอาคืนกองทัพอินเดียที่โจมตีวิหารทองคำในรัฐปัญจาบเมื่อปี 2527

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย ซึ่งเป็นชาวซิกข์ที่อาศัยอยู่ในแคนาดาทั้งคู่ ต่อมาในปี 2543 ทางการแคนาดาจับกุมผู้ต้องสงสัยได้อีก 2 ราย ซึ่งเป็นชาวซิกข์ที่อาศัยอยู่ในแคนาดาเช่นกัน ทว่าในปี 2548 หลังพิจารณาคดีความนานถึง 2 ปี ทั้งสองกลับถูกยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ขณะที่ทางผู้พิพากษาฝั่งแคนาดาให้เหตุผลว่า พยานคนสำคัญที่ให้การเป็นพยานกล่าวโทษชายทั้งสองนี้มีประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูล ส่งผลให้ญาติของผู้เสียชีวิตรู้สึกช็อกและเสียใจมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทางการแคนาดาถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ดำเนินการเพียงพอที่จะป้องกันโศกนาฏกรรมนี้ โดยรัฐบาลแคนาดาได้เปิดการไต่สวนสาธารณะอีกครั้งในปี 2549 เพื่อศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างละเอียด จนได้ข้อสรุปออกมาในปี 2553 ว่า โศกนาฏกรรมแอร์ อินเดีย ซึ่งเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แคนาดานั้น เป็นผลจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นทอด ๆ ซึ่งหลัก ๆ แล้วเป็นการปล่อยปละละเลยของฝั่งแคนาดาเอง

ยกตัวอย่างเช่น เคยมีพยานนิรนามได้เตือนตำรวจแคนาดาถึงแผนการระเบิดเครื่องบินลำหนึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวหลายเดือน ขณะที่หน่วยสืบราชการลับของแคนาดาได้ติดตามผู้ต้องสงสัย 2 รายไปในป่า และได้ยินเสียงระเบิดดัง แต่กลับไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากพอที่จะตามเรื่องต่อ นอกจากนี้ นักข่าวชาวซิกข์ 2 รายที่เกือบได้เป็นพยานคนสำคัญนั้นถูกสังหาร และหน่วยสืบราชการลับได้ทำลายเทปการพูดคุยโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยแทนที่จะส่งให้ตำรวจ เพราะกลัวแหล่งข่าวถูกเปิดโปง

โศกนาฏกรรมแอร์ อินเดีย ได้สร้างความเจ็บปวดให้คนอินเดียมาอย่างยาวนาน เพราะแม้เหยื่อส่วนใหญ่เป็นพลเมืองแคนาดา แต่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายอินเดียและมีญาติอยู่ในอินเดีย โดยคนอินเดียส่วนใหญ่มองว่า ผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่ในฝั่งแคนาดานั้น โศกนาฏกรรมดังกล่าวกลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวแคนาดาซึ่งเพิ่งจัดทำในต้นปีนี้พบว่า ชาวแคนาดา 9 ใน 10 คน แทบไม่มีข้อมูลหรือไม่รู้เรื่องเหตุการณ์นี้เลย

นับตั้งแต่นั้นความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับอินเดียก็ดีขึ้น โดยโศกนาฏกรรมแอร์ อินเดีย ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับทั้งสองประเทศ และไม่ค่อยมีใครพูดถึง จนกระทั่งผ่านไปเกือบ 40 ปี ผู้นำแคนาดาได้กล่าวโทษอินเดียว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ซึ่งได้กลายมาเป็นข้อพิพาทที่รุนแรงที่สุดระหว่างทั้งสองประเทศแทนที่โศกนาฏกรรมนี้ไปแล้ว

ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ข้อพิพาทระหว่างแคนาดากับอินเดียจะคลี่คลายลงได้หรือไม่และอย่างไร ข้อพิพาทระหว่างแคนาดากับอินเดียเกี่ยวกับการสังหารฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ถือเป็นประเด็นซับซ้อนและละเอียดอ่อน โดยสะท้อนให้เห็นความแตกแยกในชุมชนซิกข์ และความท้าทายที่แคนาดาและอินเดียต้องเผชิญ

ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อระเบียบโลก จึงต้องติดตามเรื่องราวเหล่านี้อย่างใกล้ชิดและไม่ปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญในการเปิดอกพูดคุยและเข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมและชุมชนต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และรับมือกับความเห็นต่างอย่างสันติวิธี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top