ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2566 เหลือ -1.5% (เดิม 0.5%) หลังการส่งออกหดตัวต่อเนื่องรุนแรง และฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด โดบในระยะถัดไป SCB EIC มองว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามลำดับ และขยายตัวชัดเจนในช่วงท้ายปีจากเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 และปัจจัยฐานต่ำ ประกอบกับมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น
“การขยายตัวช่วงท้ายปี จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 7 เดือนแรกของปีได้ ดังนั้น SCB EIC จึงปรับมุมมองประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2566 เป็นหดตัว -1.5% ลดจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5%” บทวิเคราะห์ระบุ
สำหรับการส่งออกไทยปี 2567 มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จาก
(1) ปริมาณการค้าโลกในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปี 2566 รวมถึงเศรษฐกิจโลกปี 2567 คาดว่าขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงปี 2566 ที่ 2.3% โดยเฉพาะภาคการผลิตที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นจากปีนี้
(2) ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงและต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลงกลับสู่ระดับปกติ
(3) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ที่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีนี้ ประกอบกับกลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้น
(4) นโยบายการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรจากบางประเทศ ที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เช่น นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยกดดัน ได้แก่
(1) นโยบายการเงินตึงตัวมากกว่าคาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอลง
(2) เศรษฐกิจจีนขยายตัวแผ่วลง ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจใช้เวลาฟื้นตัว จะกระทบสินค้าส่งออกบางชนิดของไทยที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน โดยเฉพาะยางพารา ไม้ยางพารา ปิโตรเคมี คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรถยนต์
(3) ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยปริมาณฝนในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปีในหลายพื้นที่ของไทยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเกษตรของไทยลดลงในหลายกลุ่มจากปริมาณผลผลิตที่เสียหาย โดยเฉพาะข้าว อ้อย และน้ำมันปาล์ม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไทยในเดือนส.ค.66 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวได้ 2.6% หลังจากหดตัวต่อเนื่องรุนแรง ขณะที่ในภาพรวม 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2566 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 187,593.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: SCB EIC, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ