สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซีย (Rosselkhoznadzor) ระบุในวันอังคาร (26 ก.ย.) ว่า รัสเซียกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตามจีนในการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเล หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. และวางแผนที่จะหารือเรื่องดังกล่าวกับญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีน หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลในเดือนที่ผ่านมา โดยจีนได้ตอบโต้การดำเนินการดังกล่าวด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น
สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียได้หารือเรื่องการส่งออกอาหารญี่ปุ่นกับจีน โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของจีนและกำลังพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
“เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารแล้ว สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียจึงพิจารณาที่จะจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับจีน” สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุในแถลงการณ์ พร้อมกล่าวเสริมว่า “รัสเซียจะสรุปการตัดสินใจหลังเจรจากับทางญี่ปุ่นแล้ว”
สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า ได้ส่งจดหมายถึงญี่ปุ่นแล้ว เพื่อขอนัดหมายการประชุม พร้อมขอให้ญี่ปุ่นส่งข้อมูลการทดสอบรังสีในผลิตภัณฑ์ปลาส่งออกของญี่ปุ่นภายในวันที่ 16 ต.ค ซึ่งรวมถึงสารทริเทียม
สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งสิ้น 118 ตันในปีนี้
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นปลอดภัยดี เนื่องจากได้รับการบำบัดเพื่อขจัดสารรังสีออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแค่สารทริเทียมเท่านั้น เนื่องจากเป็นสารที่ยากที่จะแยกออกจากน้ำได้ และการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ญี่ปุ่นระบุว่า ข้อครหาจากรัสเซียและจีนนั้นไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: จีน, ญี่ปุ่น, ฟุกุชิมะ ไดอิจิ, รัฐบาลญี่ปุ่น, สารกัมมันตรังสี, อาหารทะเล