บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย (MCA) จัดกระบวนทัพนำเสนอข้อมูลนักลงทุน (โรดโชว์) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันนี้ เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจ หนึ่งในผู้นำธุรกิจด้านแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดที่ครบวงจร รายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายช่องทางการตลาดสู่การดำเนินธุรกิจการบริการเป็นผู้จัดจำหน่าย (Distributor) ตอบโจทย์การรองรับกลุ่มลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 4/66
นายภักดี เหล่างาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MCA กล่าวว่า บริษัทให้บริการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และเป็นผู้ให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดที่ครบวงจร ภายใต้การให้บริการ 1. บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล (Marketing activities and Digital) 2. บริการบรรจุและจัดส่งสินค้า (Packing and Logistic) 3. บริการพนักงานแนะนำสินค้า (Product Consultant) และ 4. บริการจัดเรียงสินค้า (Merchandiser)
ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัตินับหนึ่งแบบไฟลิ่ง MCA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ เตรียมนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน (โรดโชว์) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น
“MCA เตรียมนำเสนอรายละเอียดข้อมูลทางธุรกิจ เพื่อตอกย้ำความเป็นหนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ”
หัวใจหลักที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของ MCA คือ”ความเชื่อใจ วัดผลได้ อย่างมืออาชีพ” เนื่องจากบริษัทฯ เชื่อว่าระบบที่ดีจะสร้างผลงานที่มีคุณภาพ และทีมงานที่ดีจะสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือแรงขับเคลื่อนองค์กรสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มการเติบโตในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการกิจกรรมทางการตลาดและการสร้างสรรค์อย่างครบวงจร โดยใช้นวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สู่ผลสำเร็จและการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้ถือหุ้นในอนาคต
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการขยายธุรกิจสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ ในการเข้าไปเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) และรองรับการลงทุนในสินทรัพย์ สำหรับการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายรูปแบบให้ครบทุกมิติมากขึ้น รวมทั้งเพื่อใช้ในการชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพความมั่นคงทางการเงินให้กับบริษัทฯ ในอนาคต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MCA กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) นั้น บริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายเข้าไปสู่การดำเนินธุรกิจใหม่ ใน Distributor เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจจำนวนน้อยราย จึงมองว่าเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้
โดยที่บริษัทฯ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าของสินค้าและผู้อุปโภคบริโภค โดยจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าของสินค้า ในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ (Product Introduction) จนถึงการที่สินค้าได้ไปอยู่ในมือผู้บริโภค (Off Take) ซึ่งการให้บริการดังกล่าวรวมไปถึงวางแผนสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) การใช้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการกิจกรรมทางการตลาด (Marketing Activation) รวมถึงการเข้าถึงช่องทางขายต่าง ๆ (Distribution Channel) ซึ่งจะทำให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่องทางได้มากขึ้น
และด้วยแผนกลยุทธ์ที่มุ่งสู่ธุรกิจ Distributor ส่งผลให้ในไตรมาส 3/66 บริษัทฯ ได้รับโอกาสจากลูกค้ากลุ่มธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ ให้เริ่มดำเนินธุรกิจการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) รูปแบบ Principal ในโครงการนำร่อง (Pilot Project) จำนวน 1 โครงการ สำหรับสินค้า 7 แบรนด์ โดยมีขอบเขตการรับผิดชอบในการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าประเภทร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) 13 จังหวัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าโครงการนำร่องดังกล่าว จะช่วยผลักดันความสามารถในการดำเนินงานบริการเป็นผู้จัดจำหน่ายของบริษัทฯ ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต จากการให้บริการได้ทั้งในรูปแบบ Agent ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับกลยุทธ์และกระบวนการขายเป็นหลัก และ Principal เป็นการให้บริการแบบ Full Service โดยบริษัทฯ เตรียมพร้อมที่จะขยายขอบเขตการให้บริการไปยังช่องทางการจัดหน่ายรูปแบบอื่น ๆ เช่น ร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) และร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) อย่างต่อเนื่อง
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) เป็นการตอกย้ำศักยภาพความเชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดและให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดครบวงจรผ่านรูปแบบของกิจกรรมการตลาดภาคสนาม (Field Marketing) เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจให้แก่ลูกค้า ครอบคลุม ตั้งแต่การเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) การสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้อุปโภคบริโภค (Customer Engagement) ไปจนถึงการผลักดันยอดขาย (Boost Sales)
การให้บริการ ประกอบด้วย การจัดตั้งบูธสินค้า (Booth) การจัดโรดโชว์สินค้า (Roadshow) หรือการจัดกิจกรรมทางการตลาด (Marketing Event) บริษัทฯ มีประสบการณ์ในการให้บริการแก่ลูกค้าหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งแบรนด์สินค้าในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 10 ปี และมีฐานข้อมูลพนักงานผู้ให้บริการภายนอก (Outsource) มากกว่า 9,100 คน สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ การขยายธุรกิจไปเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) ต่อยอดจากประสบการณ์ผู้ให้บริการส่งเสริมการตลาดครบวงจร จะช่วยเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่บริษัทฯ ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งความครบวงจรดังกล่าว ส่งผลให้ MCA ถือว่าเป็นผู้นำธุรกิจด้านแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดที่ครบวงจร รายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนแผนการเข้าซื้อขายใน ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ นั้น คาดว่าภายในไตรมาส 4/66 นี้
จากศักยภาพความแข็งแกร่ง สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตของรายได้ของธุรกิจในงวด 6 เดือนแรกของปี 66 มีรายได้จากการบริการรวม 210.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.91 ล้านบาท หรือ 16.72% (YoY) จากการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มบริการ และตัวเลขกำไรสุทธิอยู่ที่ 12.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.57% (YoY) เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการบริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล จากการจัดกิจกรรมทางการตลาดช่วงเทศกาลสำคัญช่วงต้นปีซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ปี 62-65 มีรายได้จากการบริการรวม 331.67 ล้านบาท 235.62 ล้านบาท 224.07 ล้านบาท 372.65 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุปี 63-64 ปรับตัวลดลงเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ในปี 65 รายได้จากการให้บริการเติบโตจากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยการขยายธุรกิจบริการจัดเรียงสินค้า รูปแบบบริการแบบใช้ร่วมกัน และการฟื้นตัวของธุรกิจบริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล โดยกำไรสุทธิเท่ากับ 53.56 ล้านบาท 0.73 ล้านบาท 2.74 ล้านบาท และ 16.51 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากการรายงานบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ 5 แห่ง ประเมินกรอบเป้าหมายราคาเหมาะสมของหุ้น MCA ได้ที่ระดับ 4.50- 5.10 บาท โดย บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ประเมินราคาเหมาะสมหุ้น MCA ที่ราคา 5.10 บาทต่อหุ้น อ้างอิงจากการเติบโตเฉลี่ยของ EPS ที่ 22% CAGR 66-69 บนฐาน EPS ปี 67 ที่ 0.26 บาท โดยประสบการณ์ในการให้บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดแบบครบวงจร และศักยภาพความแข็งแกร่ง
จุดเด่นในการมีความสัมพันธ์ที่ดีและบริการสามารถวัดผลได้ตรงตามความต้องการลูกค้า ทำให้ฐานลูกค้าขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมกันนี้บริษัทได้ขยายไปทำธุรกิจ Distributor โดยเริ่มต้น pilot project รับสินค้าจำนวน 7 แบรนด์ ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 ส่งผลให้คาดการณ์กำไรปกติในปีนี้ที่ 36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% (YoY) ขณะที่รายได้ 499 ล้านบาท (+34% YoY) โดยมี Backlog เป็น secured revenue 96% และกำไรปกติปี 67 ที่ 59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% (YoY) และรายได้ประเมินที่ 650 ล้านบาท (+30% YoY) อิงสมมติฐานเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว ส่วน GPM ในปี 2023 -24 ประเมินไว้ที่ 22% สะท้อนโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับปี 65
บล.โกลเบล็ก ให้ราคาเหมาะสม MCA ที่ 5.00 บาทต่อหุ้น ประเมินว่าMCA เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด พร้อมการให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดแบบครบวงจร ประกอบกับบริษัทขยายสู่ธุรกิจใหม่ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) และมีโครงการนำร่องตั้งแต่ Q3/66 จำนวน 1 โครงการ ในการเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าของสินค้าและผู้อุปโภคบริโภค ทำให้รายได้มีศักยภาพเกิดขึ้นตามยอดขายสินค้าในช่องทางต่างๆ ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ( Economies of Scale) จึงประเมินรายได้จากการบริการในปี 66-67 ราว 489 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% (YoY) และ 625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% (YoY) ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) เท่ากับ 19%ต่อปี จึงใช้สมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ในปี 66 ที่ระดับ 22.5% เท่ากับงวด 6 เดือนแรกปี 66 และปรับดีขึ้นเป็น 23% ในปี 67 ส่งผลให้ฝ่ายวิจัย ประเมินกำไรสุทธิในปี 66-67 ที่ 33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% ( YoY) และ 56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% ( YoY) หรือคิดเป็นอัตราการ เติบโตเฉลี่ย CAGR) เท่ากับ 50% ต่อปี
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาเหมาะสม MCA ที่ 4.80 บาทต่อหุ้น โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 66 ที่ 31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% (YoY) และปี 67 อยู่ที่ 54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75%(YoY) และคาดว่าจะรายได้จากการให้บริการรวมในช่วงปี 66-67 เพิ่มขึ้น 22.8% และ เพิ่มขึ้น 23.3% ตามลำดับ เป็นผลมาจากรายได้จากทุกธุรกิจฟื้นตัว ที่สำคัญการขยายงานในธรุกิจบริการใหม่ ได้แก่ 1) รายได้จากกลุ่มการบริการจัดเรียงสินค้า (Merchandiser) เติบโตขึ้นมากที่สุด และเป็นหนึ่งในสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท และ 2) ตั้งแต่ไตรมาส 3 บริษัทได้เริ่มโครงการนำร่อง (Pilot Project) สำหรับธุรกิจผู้จัดจำหน่าย สินค้า (Distributor) จำนวน 1 โครงการแล้ว โดยบริษัทฯจะมีรายได้ที่เกิดขึ้นตามที่ยอดขายสินค้าตามช่องทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลา ดังนั้นส่วนเงินลงทุนในธุรกิจใหม่นี้จะมาจากเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมายของ MCA อยู่ที่ 4.60 บาท ประเมินมูลค่าที่เหมาะสม โดยใช้ P/E ของหุ้นที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันที่ระดับ 19.9x เท่า จากการขยายบริการและการเติบโตในธุรกิจใหม่อย่างการเป็นผู้จัดจำหน่าย ที่คาดว่าจะทำให้รายได้เติบโตแข็งแกร่ง รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะมีการขยายตัวจากการเพิ่มงบการตลาดของบริษัทลูกค้าและการประหยัดจากขนาด ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 61.0% CAGR ใน 6-68 และกำไรต่อหุ้นเติบโต 45.6% CAGR และคาดว่ารายได้สำหรับปี 66-68F จะอยู่ที่ 475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.3% (YoY) 598 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.0% (YoY) และ 685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6%(YoY)ตามลำดับ โดยบริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัลจะเป็นบริการหลักหนุนการเติบโตโดยคาดว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ 21.5% CAGR ใน 65-68
บล.บียอนด์ ให้ราคาเหมาะสม MCA ที่ 4.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น implied target P/E ที่19 เท่า สอดคล้องกับ forward PER ที่19 เท่า ทั้งนี้มองว่า MCA มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมจากความเชี่ยวชาญในการให้บริการการจัดกิจกรรมด้านการตลาดแบบครบวงจรได้มากกว่าคู่แข่ง ในอุตสาหกรรมทั้งในกลุ่มของ listed company และกลุ่ม non-listed company ทำให้สามารถตอบโจทย์การทำกิจกรรมการตลาดได้ในหลายๆ ผ่านการส่งเสริม และวางกลยุทธ์ทางตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์
ทั้งนี้ ได้ประเมินผลการดำเนินงานของ MCA โดยคาดกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตเฉลี่ยที่ระดับCAGR 43% ในปี 66-68 และคาดกำไรสุทธิเติบโตจาก 17 ล้านบาทในปี 65 เป็น 68 ล้านบาทในปี 68 จากรายได้เติบโต 32% 29% และ 17% ในปี 66-68 ตามลำดับ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ระดับ 22-23% เทียบกับ 22.5% ใน H1/66 และ 22.2% ในปี 65 เป็นผลจากการเติบโตสูงของรายได้จากบริการ Merchandiser (มี GPM ที่ราว 17%) และรายได้จากบริการใหม่ Distributor (GPM ราว 8-10%)ที่เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ H2/66 ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี GPM ต่ำกว่าบริการกิจกรรมด้านการตลาดที่มี GPM สูงกว่าที่ราว 27% ในปี 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 66)
Tags: IPO, mai, MCA, มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย, หุ้นไทย