การเปลี่ยนแปลง หรือ Transformation เป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากสิ่งเดิม ๆ ไปสู่สิ่งใหม่ เช่น Digital Transformation คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบการทำงานรูปแบบเดิมสู่การทำงานผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งไม่เพียงเป็นแนวคิดการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังถูกปรับใช้กับการบริการราชการอีกด้วย เช่น พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน มีนโยบาย รัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชน เพิ่มความโปร่งใส และประสิทธิภาพของภาครัฐ มีแนวทางหลัก คือ รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) สำหรับการบริการภาครัฐ ลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่โดยใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้ Smart Contract รวมถึงสนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) เป็นต้น
รัฐบาลดิจิทัล คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการหรือให้บริการประชาชนผ่านเทคโนโลยีต่างที่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันประกอบรวมเข้าเป็นเครื่องมือของรัฐในการบริหารรัฐกิจต่าง ๆ เช่น
อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things : IoTs) เป็นเครือข่ายที่เปิดใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเชื่อมกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานของรัฐได้แทบทุกขั้นตอน เช่น ระบบบริหารเงินการคลังภาครัฐรูปแบบอเล็กทรอนิกส์ ของกระทรวงการคลัง ที่ได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547
การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ซึ่งเป็นฐานบริการในการจัดเก็บ จัดการและประมวลผลข้อมูล เพื่อให้รัฐสามารถใช้งานเครือข่ายต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งหรือดูแลระบบเอง ซึ่งมีตัวอย่างในการใช้คือ หมอชนะ และไทยชนะ ที่ได้ถูกใช้งานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา
ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการวิเคราะห์และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ให้ง่ายต่อการนำไปใช้เพื่อให้รัฐสามารถวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และกำหนดแนวนโยบายได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที่ และตอบสนองต่อความต้องการข้อประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสม
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นการใช้เครื่องจักรในการจัดการปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการส่งและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างของเครื่องจักรเพื่อความสะดวกในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น การบริหารจัดการการหางาน การศึกษา สวัสดิการสังคม ของประชาชน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดผ่านกระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่ถูกกำหนดไว้ตามระดับหรือประเภทของข้อมูลที่มีอยู่
ความปลอดภัยทางเทคโนโลยี (Security) เพื่อป้องกันการคุกคามทางเทคโนโลยีหรือการตรวจจับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่น่าสงสัย รับมือและลดความเสี่ยงจากภัยทางไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อความมั่นและเรียบร้อยของของประเทศ เช่น การเข้าระบบโดยใช้บริหารยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID: NDID) เพื่อรักษาความมปลอดภัยและความถูกต้องในการเข้าถึงข้อมูลและการใช้บริการของประชาชน
บล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีสำหรับจัดเก็บและส่งข้อมูลโดยไม่มีตัวกลาง โดยข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ โดยหากเป็นฐานข้อมูลสาธารณะทุกคนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้โดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาทำหน้าที่ควบคุม
โทรศัพท์มือถือและสื่อสังคมออนไลน์ (Mobile Technologies and Social Media) ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อ หรือประชาสัมพันธ์กับประชาชนผู้รับบริการ เช่น Facebook หรือ Line หน่วยงานของรัฐสามารถให้ข้อมูลติดต่อ เตือนภัย รับแจ้งข้อร้องเรียนต่าง ๆ จากประชาชนได้โดยตรง เช่น DLT Smart Queue ของกรมการขนส่งทางบก ที่ช่วยประชาชนในการจองคิวการทำใบขับขี่ การต่ออายุใบขับขี่ การชำระภาษี พร้อมทั้งสามารถเลือกวัน เวลาและสถานเข้ารับบริการได้ ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการรับบริการ
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้นั้นเป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักการอยู่แล้วเพียงแต่ผู้กำหนดนโยบายหรือรัฐบาลนั้นจะมีแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรหรือแนวการให้บริการประชาชนแบบไหนอย่างไร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรภาครัฐทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศชั้นนำของโลก เช่น จีน สิงคโปร์ หรือ เกาหลีใต้ เป็นต้น ต่าง Transform โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารและบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน
ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่สามารถนำแนวทางจากประเทศอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้กับการบริหารของประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามยุคสมัย และที่สำคัญคือการสร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกด้วย
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 66)
Tags: Big Data, Decrypto, คลาวด์, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, ปัญญาประดิษฐ์, ระบบดิจิทัล, รัฐบาลดิจิทัล, อินเทอร์เน็ต