BANPU ทุ่มงบ 7.2 หมื่นลบ.ปี 66-68 เติมพอร์ตพลังงานสะอาด หยุดลงทุนเหมืองถ่านหิน

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน ปี 66-68 ราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ในส่วนของหน่วยงาน Corporate Venture Capital ใช้งบลงทุนปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเงินลงทุนรวมของบริษัท อีกทั้งอยู่ในระหว่างศึกษาการนำแอมโมเนียและไฮโดรเจนมาผลิตเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาด

ขณะที่ ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3/66 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาถ่านหินที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ 168 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีก่อนซึ่งมีราคา 400 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ยังเป็นระดับที่ทำกำไรอยู่ ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีหลังราคาถ่านหินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาถ่านหินได้ปรับขึ้นมา 1-3 เหรียญสหรัฐ/ตัน และในไตรมาส 4 เป็นช่วงพีคของราคาถ่านหิน ประกอบกับปริมาณการผลิตซึ่งหากผลิตได้ตามเป้าหมายก็ทำสามารถทำรายได้สูงกว่าปีก่อน ทั้งนี้ในปี66 บริษัทคงการผลิตและจำหน่ายถ่านหินที่ 42 ล้านตัน

นางสมฤดี กล่าวว่า แผนการเติบโตระยะยาวของบริษัทมุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งวางแผนงานในอนาคตของ 4 ธุรกิจเรือธง ได้แก่ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหน่วยงาน Corporate Venture Capital ภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter

– ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ซึ่งได้เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

– ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป้าหมายในอนาคตคือการขยายพอร์ตธุรกิจทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ คู่ขนานไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โดยบริษัทสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 3 โครงการรวม 270,000 ตัน และตั้งเป้ากักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 15-16 ล้านตันในปี 73 โดยจะสร้างรายได้ 85 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/ตัน รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี 68 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายใน ปี 73

– ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน มุ้งเน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ ๆ อาทิ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & ESS Solutions) ตั้งเป้ากำลังผลิต 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) จำนวน 60 โครงการ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ

– ธุรกิจเหมือง บริษัทยังไม่มีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติมแต่มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และการพัฒนาการดำเนินงานในสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด อาทิ นิกเกิล ลิเทียม ซึ่งปัจจุบันบริษัทเข้าไปจัดหาพื้นที่โครงการในลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

ส่วนหน่วยงาน Corporate Venture ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 65 เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู หน่วยงานนี้จะเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน

“ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาล้วนเกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนของผู้บริหารและพนักงานบ้านปู ในทั้ง 9 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม) ที่ทำงานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้วัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) นอกจากนี้ ยังมี หลัก ESG ที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดำเนินธุรกิจที่ทำให้บ้านปูสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จากนี้ไป เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้ส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต” นางสมฤดี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top