นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ก.ย.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 0.88% เป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 0.79%
“อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมายต่อเนื่องกัน สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาลรักษาการ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐาได้ ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนว่า มีอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินอยู่จำนวนมาก ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงถึงอุปสงค์ส่วนเกินร้อนแรง” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อในไทย และเงินเฟ้อโลกอาจเร่งตัวขึ้นได้อีก จากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยมองว่าราคาน้ำมันอาจกลับมาทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลได้อีก จากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคพลัส ทำให้น้ำมันดิบสำรองขาดอยู่ประมาณ 313 ล้านบาร์เรล ขณะที่อุปสงค์น้ำมันโลกอยู่ที่ 2.44-2.45 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 66-67 ขณะที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ กองทุนบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันล่วงหน้าต่างกระโจนเข้าสู่การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าซาอุดิอารเบีย และรัสเซีย จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงวันละ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี
ปัจจัยดังกล่าวจะมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent แตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 93-94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันระดับดังกล่าว ย่อมสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อจากต้นทุนอีกระลอกหนึ่งในช่วงไตรมาสสี่
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในกรณีของประเทศไทย มีการใช้มาตรการภาษีและกองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาน้ำมัน ทำให้ราคาภายในประเทศไม่สูงจนเกินไป แต่จะเพิ่มภาระทางการคลังมากขึ้นเรื่อย ๆ หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงนาน ค่าไฟฟ้าถูกตรึงราคาไว้โดยการยืดการชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ใช่การปรับสัญญาสัมปทานผลิตไฟฟ้าให้เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณมาชำระหนี้ให้ กฟผ.ต่อไป
ขณะที่เงินเฟ้อระยะยาวมีโอาสจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% หรือไม่นั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาประเด็นนโยบายประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันด้วย โจทย์ของนโยบายการเงินปรับเปลี่ยนไป โดยปัจจัยเฉพาะหน้าระยะสั้นเรื่องเงินเฟ้อควบคุมได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็คงต้องดูภาพเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพระยะยาวหรือไม่ นโยบายการเงินหรือมาตรการการเงินต้องช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน และของธุรกิจรายเล็กราย่อย รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 91% ต่อจีดีพี
“การเป็นหนี้สูง ไม่ได้เกิดจากการมีดอกเบี้ยที่ต่ำ และนานเกินไป หรือปัญหาวินัยทางการเงิน แต่เกิดจากปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และความไม่สามารถในการมีรายได้มากพอและเพียงพอต่อรายจ่ายมากกว่า จึงต้องก่อหนี้ไปเรื่อย ๆ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่สูงเกินไป จะสร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ซับซ้อนและแก้ไขยากยิ่งขึ้น” นายอนุสรณ์ ระบุ
สำหรับปัญหาฟองสบู่ และหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ส่งผลต่อภาคส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ การขาดดุลแฝดทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลงบประมาณ จะกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยนายอนุสรณ์ คาดว่า อาจจะได้เห็นเงินบาทแตะระดับ 37-38 บาท/ดอลลาร์ได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคส่งออก และการปรับสมดุลให้กับเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 66)
Tags: กนง., คงดอกเบี้ย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย