บมจ.การบินไทย (THAI) สายการบินแห่งชาติ ณ วันนี้เตรียมแผนธุรกิจหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เมินเป้าหมายปีนกลับขึ้นไปเป็นสายการบินระดับ Top ของโลก เพราะห้วงเวลานี้ภาพลักษณ์ระดับโลกไม่ได้สำคัญเท่ากับการเดินหน้าหารายได้และสร้างผลกำไรเพื่อพลิกฟื้นธุรกิจสู่ความแข็งแกร่ง เนื่องด้วยสถานการณ์ธุรกิจการบินปัจจุบันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว การขับเคลื่อนองค์กรต้องอาศัยความรวดเร็วฉับไว การวางแผนเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาองค์กรให้มีความสามารถแข่งขันได้และไม่กลับไปอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ อีกต่อไป
THAI จึงวางทิศทางอนาคตหลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ ในไตรมาส 3/67 เดินหน้าธุรกิจด้วยการขยายเครือข่ายพันธมิตรการบิน เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางข้อจำกัดด้านฝูงบินที่ทำให้ยังไม่สามารถเพิ่ม Capacity ด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เพราะบริษัทอยู่ระหว่างวางแผนจัดหาเครื่องบินเพิ่มช่วง 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีข้อสรุปต้นปี 67
โมเดลใหม่ของธุรกิจ THAI ประกอบด้วย งานบริการภาคพื้นดิน (Ground Services) งานครัวการบิน (Catering) งานบริการขนส่งทางอากาศ (CARGO) รวมถึงปัดฝุ่นโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา พร้อมวางกลยุทธ์จับมือพันธมิตรเข้ามาเสริมในแต่ละธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น และเพิ่ม Value ให้กับธุรกิจเหล่านี้ ภายใต้การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและบริษัทย่อย
*กางแผนระยะยาวจัดหาเครื่องบินรองรับ 10 ปีข้างหน้า
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า หลังจากการบินไทยหลุดจากสถานะรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทเอกชนทำให้สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น ตัดสินใจได้รวดเร็วมากขึ้น มีความเป็นอิสระในการบริหารงานมากขึ้น และทำงานได้อย่างรอบคอบมากขึ้น
แต่เมื่อธุรกิจการบินฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดหาเครื่องบินไม่ใช่เรื่องง่าย บริษัทจึงเริ่มวางแผนหาเครื่องบินเข้ามาเพิ่มในฝูงบินในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยจะประเมินจำนวนเครื่องบินที่ต้องการใช้ทั้งหมดเพื่อเสริมทัพ ซึ่งระหว่างนี้บริษัทกำลังศึกษาเพื่อจะจัดหาเครื่องบินเข้ามาเริ่มทยอยตั้งแต่ปี 2027 (พ.ศ.2570) เป็นต้นไป คาดว่าจะสามารถสรุปแผนจัดหาเครื่องบินได้ต้นปี 67 โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาด้วย ได้แก่ การผลิตเครื่องบินในตลาด ซึ่งปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ และอีกอย่างคือเรื่อง ความสามารถทางการเงินของบริษัท
“ต่อไปในอนาคต ปฏิเสธไม่ได้ว่า Core Business ของการบินไทยคือการบิน ยังไงการบินไทยก็ต้องอาศัย Core Business ในการหารายได้ เครื่องมือในการทำมาหากินของการบินไทยก็คือ เครื่องบิน สิ่งที่เราจะได้ในตอนนี้คือวางแผนในอนาคตว่าต่อไปอีก 10 ปี การบินไทยควรมี Capacity เท่าไหร่ที่จะสามารถยืนหยัดในตลาดการแข่งขันได้”นายชาย กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”
*ขยายพันธมิตรการบิน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI ระบุว่า ในอนาคตการบินไทยต้องมีพันธมิตรธุรกิจการบินมากชึ้นเพื่อจะขยายเครือข่ายทางธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องทำการบินด้วยตัวเองในทุกเส้นทางบิน เพราะขณะนี้การบินไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องบิน
ล่าสุด การบินไทยเซ็นสัญญากับ “เตอร์กิชแอร์ไลน์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญ เพราะสายการบินเตอร์กิชมีเน็ตเวิร์คครอบคลุมมากที่สุดในโลก ขณะที่การบินไทยอยู่ในภาวะที่มีเครื่องบินจำกัด และเตอร์กิชแอร์ไลน์ก็อยากได้การบินไทยเป็นพันธมิตรเพื่อจะขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งสองสายการบิน ยังเป็นสมาชิกสตาร์อัลไลแอนซ์ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการขายตั๋วเครื่องบิน การทำโค้ดแชร์ และคาดหวังว่าจะมีความร่วมมือมากขึ้นไปถึงขั้น JV Corporation ที่บินร่วมกันและแบ่งรายได้ระหว่างกัน ที่จะได้ประโยชน์มากกว่าโค้ดแชร์ ซึ่งยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
และยังมีอีกหลายสายการบินที่จะเจรจาไปถึงขั้น JV Corporation ขณะเดียวกันความร่วมมือแบบ Code Share กับสายการบินอื่นๆ ปัจจุบันการบินไทยก็มีแทบทุกเส้นทางอยู่แล้ว
“ผมว่าการบินไทยโดดๆ สู้ยาก ต้องหาพันธมิตรสายการบิน อันที่สองพันธมิตรในประเทศ เช่น AOT หรือ ท่าอากาศยานไทย เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่มีความร่วมมือกันมากขึ้น การบินไทยดี AOT ก็ดีด้วย เพราะเราคือ Major Customer Major Airline ที่ใช้บริการ AOT ดี แอร์พอร์ตให้บริการดีการบินไทยก็ดีด้วย”
สิ่งที่ยังเป็นปัจจัยหนุนให้กับบริษัท แม้จะไม่ได้มีสถานะรัฐวิสาหกิจอีกต่อไปแล้ว แต่การบินไทยยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ที่มีความเข้าใจถึงแผนธุรกิจของบริษัท และเข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับสายการบินอื่น จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนให้มีการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี นายชาย กล่าวยอมรับว่า คงไม่สามารถจะนำการบินไทยกลับขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนในอดีตได้ เนื่องจากบริบทเปลี่ยนไปจากเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เพราะขณะนั้นยังไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่มีสายการบินจากประเทศแถบตะวันออกกลางมากเช่นทุกวันนี้
ส่วนธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็น Catering , MRO, Ground Service , Cargo เราก็มีการศึกษาว่าเราสมควรจะหาพันธมิตรธุรกิจมาร่วมขยายธุรกิจ ซึ่งแนวโน้มก็ต้องขยายไปมากขึ้น โดยตามแผนปรับโครงสร้างบริษัทในแผนฟื้นฟูกิจการก็จะมีการจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยตามแต่ละธุรกิจ อาจจะมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรเพื่อเพิ่ม Value ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่างธุรกิจ Cargo ได้เซ็นสัญญากับ กลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา Valuation ของธุรกิจ แต่การบินไทยก็ไม่ได้ปิดกั้นพันธมิตรเฉพาะเพียงรายเดียว
ส่วน MRO ขณะนี้ได้พูดคุยกับทางสำนักงานคณะกรรมการเขตพัมนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เราจะลงทุนที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะต้องจ้างที่ปรึกษาเพื่อปัดฝุ่นโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานซึ่งเป็นโครงการเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพราะโมเดลธุรกิจอาจจะต้องเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากธุรกิจสายการบินเป็นหลัก 90% ส่วนธุรกิจจากหน่วยธุรกิจ 3 หน่วยได้แก่ ครัวการบิน, งานบริการภาคพื้นดิน และคาร์โก้ มีสัดส่วนรวมกัน 10%
นายชาย กล่าวว่า เนื่องจากการบินไทยยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ การจะดำเนินการใด ๆ ก็ยังมีข้อจำกัด อาทิ การขายทรัพย์สิน แต่การบินไทยก็ไม่สามารถรอจนกว่าบริษัทออกจากแผนได้ เพราะจะช้าเกินไป อาจต้องมีการพูดคุยกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ว่าบางธุรกิจเราสามารถทำได้ก่อนออกจากแผนหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง หรือพาร์ทเนอร์ที่เขาสามารถจะสร้าง Value Added มาให้การบินไทยได้ชัดเจน ก็เห็นว่าต้องรีบดำเนินการ เพราะโอกาสทางธุรกิจไม่ได้มาง่ายๆ
“ย้อนหลังไป 2-3 ปี ถ้าเราวางเป้าหมายยาวเกินไป เราก็จะเหนื่อย ผมมองเป้าหมายสั้นก่อน ให้เป็นขั้นเป็นตอนไป …วันนั้นเราต้องทำตัวเองให้รอดก่อน ที่ผมเปรียบเปรยว่าเราเหมือนอยู่ในไอซียู ตอนนี้เราออกมาแล้ว วันนี้เป้าหมายคือเราออกจากแผน ก็สื่อให้เห็นว่า การบินไทยเดินต่อได้ เป้าหมายที่สามซึ่งอยู่ไม่ไกล จากเป้าหมายที่สองคือการเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Resume Trade) ส่วนต่อไปอนาคตระยะยาว เราผู้บริหารแผนก็จะสามารถจะวางแผนการเจริญเติบโตเท่าที่ขีดจำกัดของเราที่จะทำได้” นายชาย กล่าวทิ้งท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 66)
Tags: SCOOP, การบินไทย, ชาย เอี่ยมศิริ