ตลท.กับหน้าที่ตลาดรองหนุน National Wealth กลไกสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-สังคมไทย

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดทุนไทยทำให้เกิดกลไกเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่าง Demand Side ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ลงทุนประเภทต่างๆ เข้ากับ Supply Side ซึ่งก็คือบริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบการที่สนใจเข้าจดทะเบียนต่างๆ

ในโครงสร้างตลาดทุนไทยนั้น จะมีทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งทั้ง 2 ตลาดอยู่ใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้รับอำนาจการกำกับดูแลมาจากรัฐบาล และในตลาดหุ้นเองก็มีหน่วยงานต่างๆ เป็นองค์ประกอบ

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทเป็นตลาดรองที่สำคัญของไทย และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 56-66) มาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 18.7 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 56 ที่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 11.6 ล้านล้านบาท โดยสาเหตุหลักของการเติบโตมาจากจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 886 บริษัท จากปี 56 ที่มีจำนวน บจ. 615 บริษัท และการเติบโตของ บจ. แต่ละราย โดยจากสถิติพบว่า ธุรกิจบริการ และเทคโนโลยี เป็นธุรกิจที่เติบโตมากสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของเทรนด์ธุรกิจทั่วโลก

ในบทบาทของการเป็นตลาดรองที่สำคัญของประเทศนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองต้องพัฒนาและสร้างการเติบโตให้กับองค์กรด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับองค์กรตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยหากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นที่โดดเด่นในภูมิภาค จะพบว่าทุกตลาดหลักทรัพย์ต่างก็ปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทุนในประเทศนั้นๆ ทั้งความต้องการจากฝั่ง Demand และฝั่ง Supply ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้น KRX ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในภูมิภาคที่มี Carbon Credit Exchange และมุ่งเป้าดึงธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาจดทะเบียน, ตลาดหลักทรัพย์ของจีน ที่ล่าสุดได้มีการตั้งกระดานซื้อขาย (Platform) ใหม่ ชื่อว่า SSE Star Market สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียที่มีพัฒนาการการเติบโตที่น่าสนใจ และโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

นอกเหนือจากการพัฒนาองค์กรในฐานะตลาดรองแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาฝั่ง Supply Side มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงคุณภาพ ผ่านการกำกับดูแลและให้คำปรึกษา เพื่อให้ บจ.มีมาตรฐานด้านโครงสร้างธุรกิจ ด้านการทำบัญชี ด้านการเปิดเผยข้อมูล และด้านบรรษัทภิบาล ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้พัฒนาฝั่ง Demand Side หรือฝั่งผู้ลงทุน ด้วยการให้ความรู้ด้านการลงทุน ช่วยติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมกับส่งสัญญาณเตือนผู้ลงทุนในกรณีที่อาจเกิดปัญหาจากการลงทุนซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนเอง

หุ้น IPO มักเป็นประตูบานแรกที่ดึงผู้ลงทุนเข้าตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทใดๆ เข้ามาเป็น Listed company ซึ่งต้องผ่านกระบวนการปรับโครงสร้าง ผ่านการกำกับดูแลและตรวจสอบจากทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาแล้วนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าบริษัทนั้นๆ หรือหุ้นนั้นๆ เป็นหุ้นที่มีคุณภาพ หรือเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนตามที่คาดหวังไว้

เมื่อเข้าตลาดหุ้นแล้ว ตัว บจ.เอง ก็มีหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกับ Stakeholder ในตลาดทุนด้วย ทั้งผู้ลงทุน นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาจังหวะการเติบโตของธุรกิจด้วย

“สำหรับผู้ลงทุนเอง การหาความรู้ ทำความเข้าใจด้านการลงทุน การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ บจ.เปิดเผย ก็มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ลงทุนก็ต้องรู้ว่าเราลงทุนในหุ้นหุ้นหนึ่งด้วยความคาดหวังผลตอบแทนอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรู้จักและเข้าใจ Growth Story ของหุ้นนั้นๆ ด้วย ส่วนการแจ้งเตือนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ระมัดระวังการซื้อขายนั้น มองว่าเป็นเครื่องมือที่สมเหตุสมผลแล้ว ซึ่งการจะยกระดับเครื่องมือกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น หากจะทำก็ต้องดูความเหมาะสมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย” นายแมนพงศ์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top