SPCG รายได้ Solar Roof ทะลุเป้ากว่าพันลบ. หนุนทั้งปีโตกว่าปีก่อน

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 66 คาดจะเติบโตมากกว่าปี 65 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4,471.25 ล้านบาท ตามการรับรู้รายได้ธุรกิจ Solar Roof ของบริษัทย่อย หรือ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR) เนื่องจากในช่วงต้นปีค่าพลังงานมีราคาสูงมาก หลายองค์กรจึงนิยมติดตั้ง Solar Roof ซึ่งบริษัทดำเนินการติดตั้ง Solar Roof ได้เกินเป้าของปี 66 ไปแล้ว โดยรับรู้รายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ล่าช้ามากว่า 3 ปี เนี่องจากอยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาตจากสำนักงาน EEC ประมาณ 5-6 ใบที่เกี่ยวข้อง โดยหากได้รับใบอนุญาตแล้วจะดำเนินการสร้างแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดไม่เกิน 1 ปี โดยบริษัทได้ซื้อที่ดินจำนวน 3,000 ไร่กระจายในจังหวัดพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ใช้เงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งในเฟส 1 ขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ งบลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ราว 1,500 ล้านบาท ขณะที่การรับรู้รายได้ทั้งโครงการคาดประมาณมากกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ฟุกุชิมะ ที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการดังรวมราว 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเมกะโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีกำหนดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 68

“บริษัทมีความต้องการให้รัฐบาลปลดล็อคกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการสนับสนุนพลังงานสะอาด ซึ่งในปัจจุบันการติดตั้ง Solar Roof จะต้องผ่านกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งมีระยะเวลาการชขอใบอนุญาตเกือบ 2 ปี รวมทั้งต้นทุนในการติดตั้งค่อนข้างสูง ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการนำประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ตั้งแต่ระดับครัวเรือน จนถึงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องลดช่องว่างและส่งเสริมให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการใช้พลังงานสะอาด” นางวันดี กล่าว

อย่างไรก็ตามกรณีรัฐบาลประกาศปรับลดค่าไฟลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ไม่ได้กระทบต่อบริษัทแต่ส่งผลดีต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระประชาชนระยะสั้น และอาจสร้างภาระหนี้ให้กับภาครัฐ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายการปรับโครงสร้างค่าไฟ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top