นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบัญชีและการเงิน บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) กล่าวว่ารายได้ของบริษัทในปี 66 ยอมรับว่าทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท ลงมาเหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมีรายได้อยู่ที่ 5.8 พันล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ในกลุ่มธุรกิจ Innotaiment & Infarstructure ที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้เข้ามาได้ เนื่องจากการ Console งบการเงินของบมจ.ที.เค.เอส. เทคโนโลยี (TKS) และบมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) ยังไม่เข้ามา จากกระบวนการของดีลการแลกหุ้นที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้รายได้ที่ประเมินไว้ 6 พันล้านบาท ไม่สามารถเข้ามาได้ทั้งหมด
ประกอบกับ รายได้ของธุรกิจ Financial Service ไม่สามารถเข้ามาได้จากที่ประเมินไว้ 1 พันล้านบาท เนื่องจากยังไม่ได้รับในอนุญาตการประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้รายได้จากธุรกิจดังกล่าวหายไป กระทบต่อการประมาณการเป้าหมายรายได้
อย่างไรก็ตามบริษัทยังมั่นใจในศักยภาพการเติบโต จากการที่ทีมงานช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจ และได้รับความเชื่อมั่นจากกองทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุดมีกองทุนจากสหรัฐเข้ามาลงทุนในบริษัท โดยที่ก่อนหน้านี้ก็มีกองทุนจากยุโรป และสแกนดิเนเวีย เข้ามาลงทุนใน SABUY ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อศักยภาพในการเติบโตของบริษัทในภาพรวม และบริษัทยังยืนยันในควาพมร้อมใช้คืนหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุในปี 67 2 ชุด ในเดือนก.พ. 67 มูลค่า 500 ล้านบาท และเดือนมิ.ย. 67 มูลค่า 1.5 พันล้านบาท จะใช้คืนหุ้นกู้ทั้งหมด โดยไม่ออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างของธุรกิจ เพื่อรองรับการเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มที่ในปี 67 หลังจากปี 66 บริษัทได้มีการเข้าลงทุนในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวเนื่องที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจ โดยในส่วนของธุรกิจหลัก คือ SABUY Tech จะมีการรีแบรนด์ให้ชื่อ SABUY เข้าไปเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของคนมากขึ้น สามารถเข้าถึงและเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันส่วนของธุรกิจ SABUY SPEED จะมีพันธมิตรใหม่ที่เข้ามาช่วยต่อยอดและเสริมศักยภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับกพันธมิตรในกลุ่มโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ช และ Digital Asset ที่จะเข้ามาถือหุ้นใน SABUY SPEED สัดส่วน 20% โดยจะทำให้ SABUY SPEED เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อในธุรกิจที่หลากหลาย เช่น การเป็นหน้าร้านให้กับผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้า และมีการบริหารจัดการด้านการขนส่งครบวงจร การให้บริการทางด้านการเงิน และตัวแทนขายประกัน เป็นต้น
ส่วนของบัซซี่บีส์ (BUZZEBEES) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 27% จะมีการเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินจากการระดมทุนมาขยายธุรกิจต่อไป และบริษัทยังได้เงินจากการขาย IPO ด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมความพร้อมของการเข้าตลาด ซึ่งคาดว่าจะเข้าตลาดในช่วงต้นหรือกลางปี 68
นอกจากนี้ยังมี บมจ.นครหลวง แคปปิตอล ที่ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อจำนำรถ อุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งมีการเติบโตที่ดีมาต่อเนื่อง บริษัทเตรียมที่จะดันเข้าตลาดและเสนอขาย IPO ในช่วงปลายปี 67 หรือต้นปี 68 ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจในกลุ่ม SABUY สามารถต่อยอดการเติบโต และทำให้ SABUY มีเงินเข้ามารองรับการต่อยอดลงทุนอื่นๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 66)
Tags: SABUY, ณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์, สบาย เทคโนโลยี, หุ้นไทย