นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ช่วง 8 เดือนของปี 2566 (ม.ค. – ส.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 435 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 145 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 290 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 65,790 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,491 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 99 ราย (23%) เงินลงทุน 21,981 ล้านบาท, สิงคโปร์ 72 ราย (17%) เงินลงทุน 13,995 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 71 ราย (16%) เงินลงทุน 3,070 ล้านบาท, จีน 31 ราย (7%) เงินลงทุน 11,851 ล้านบาท และฮ่องกง 19 ราย (4%) เงินลงทุน 5,359 ล้านบาท
รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน เป็นต้น
นายทศพล กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 จะพบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 54 ราย คิดเป็น 14% (ม.ค.-ส.ค.66 อนุญาต 435 ราย /ม.ค.-ส.ค.65 อนุญาต 381 ราย) มูลค่าการลงทุนลดลง 17,492 ล้านบาท คิดเป็น 21% (ม.ค.-ส.ค.66 ลงทุน 65,790 ล้านบาท /ม.ค.-ส.ค.65 ลงทุน 83,282 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 729 ราย คิดเป็น 19% (ม.ค.- ส.ค.66 จ้างงาน 4,491 คน /ม.ค. – ส.ค.65 จ้างงาน 3,762 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ยังคงเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปี 2565
โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ
– บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
– บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง
– บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการสำหรับโครงการรถไฟฟ้า
– บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
– บริการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสำหรับที่ใช้ในสถานพยาบาล
– บริการซอฟต์แวร์ ประเภท ENTERPRISE SOFTWARE และ DIGITAL CONTENT
– บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนม.ค.-ส.ค.66 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 86 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC อยู่ที่ 14,283 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 37 ราย ลงทุน 6,216 ล้านบาท จีน 13 ราย ลงทุน 1,053 ล้านบาท ฮ่องกง 6 ราย ลงทุน 4,046 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 30 ราย ลงทุน 2,968 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ 2) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การเลือกใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์การวางแผนติดตั้งและทดสอบการทำงานของเครื่องจักร วางแผนประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยในการทำงานสำหรับการใช้เครนหรือเครื่องจักรในการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น 3) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 4) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และ 5) บริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
นายทศพล กล่าวว่า เฉพาะเดือนส.ค.66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 58 ราย เป็นการลงทุนผ่านการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 23 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 35 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,840 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 897 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง
รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะ และองค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการผสมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
– การผลิตแป้งจากข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตขนมข้าวอบกรอบ (RICE CRACKERS)
– บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
– บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทผลิตภัณฑ์ไดโอดเปล่งแสง (LED Assembly)
– บริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อระหว่างร้านค้าออนไลน์ และผู้ให้บริการคลังสินค้าและขนส่งสินค้า
– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น ให้บริการทางเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการการใช้งานเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตามหลักการวิศวกรรมควบคุมดูแลการใช้งาน สังเกตการณ์ และตรวจสอบความปลอดภัย ดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของการใช้งานของเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ญี่ปุ่น, ทศพล ทังสุบุตร, นักลงทุนต่างชาติ