สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาประเมินผล และถอดบทเรียนการจัดการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. หวังการถอดบทเรียนจะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป สุจริต เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน
ด้านนางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลการศึกษาประเมินการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 พบว่าการสื่อสารของ กกต.ยังไม่ถึงประชาชน ทั้งเอกสารถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ข้อมูลหน่วยเลือกตั้ง และการลงคะแนน สิ่งที่เป็นประเด็นมากที่สุด คือ ความเห็นต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แต่ประชาชนให้คะแนนยังก้ำกึ่ง เนื่องจากเกิดปัญหาในการจัดการเลือกตั้ง ส่วนการนับคะแนน ยังมีผลประเมินในระดับปานกลาง
ส่วนข้อเสนอให้มีการปรับปรุงจัดการเลือกตั้ง มีจำนวนมากถึง 4,000 คำตอบ เป็นเรื่องการปรับปรุงการทำงานของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้มีมาตรฐานการประกาศรับรองให้เร็วขึ้น และการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการขาดแคลนทรัพยากรในการเลือกตั้ง
ส่วนเรื่องที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องการให้ กกต.ปรับปรุง คือ การลงคะแนนเลือกตั้งโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม, กกต. ต้องไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของสำนักงาน หรืออำนาจ คสช.ที่อาจไม่มีความเป็นธรรมทางการเมือง, การทำบัตรเลือกตั้งให้มีข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ, ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการเร็วกว่าเดิม, ความโปร่งใส และความรวดเร็วในการตรวจรับรอง สส. ที่ตามกฏหมายปัจจุบันใช้ระยะเวลากว่า 60 วัน ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความไม่ชอบมาพากล และยังมีข้อเสนอแนะให้ กกต. ลาออกไปทั้งชุด และตัดสิทธิเข้าทำงานต่อในอนาคต รวมทั้งข้อเสนอแนะให้ตรวจสอบความสุจริตจากการนับคะแนนเลือกตั้งให้เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะเปิดให้ประชาชนสามารถขอติดตามผลคะแนนเลือกตั้งได้
ประเด็นข้อเสนอให้มีเวลาเตรียมการจัดการเลือกตั้งนานขึ้น และเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 1 วัน ทำเป็นศูนย์เลือกตั้งล่วงหน้าตามที่ต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย ให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 1 วัน เปิดเลือกตั้งล่วงหน้าระหว่างวันที่ 9-20 พ.ค.66 และยังพบปัญหาการสื่อสารประชาสัมพันธ์ กกต., การจัดการงบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งมีการใช้งบประมาณ 4,657 ล้านบาท
รวมถึงการปรับปรุงวิธี ขั้นตอน อุปกรณ์ในการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การนับคะแนน การรายงานในแบบฟอร์ม สส. 5/5 และยังเสนอปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น การแบ่งเขตต้องให้มีสัดส่วนประชากรต่างกันไม่เกิน 10% บัตรเลือกตั้งพรรคเดียวกัน ควรเป็นหมายเลขเดียวกันทั้ง สส. เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ สุดท้าย คือการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธากลับคืนมา
ด้านน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย ได้สะท้อนปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้งพรรคเดียวกัน แต่เบอร์ต่างกัน เนื่องจากทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จำนวนบัตรเสีย ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีมากกว่า 1 ล้านใบ ซึ่งปัญหาเกิดจากบัตรเลือกตั้งทำให้ประชาชนสับสนในการลงคะแนน แม้ว่ากกต. ไม่ได้ทำผิดระเบียบ แต่ก็ควรออกแบบให้สะดวกกับประชาชน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 54 ที่บัตรเลือกตั้งเหมือนกัน แต่หมายเลขพรรค และผู้สมัครเป็นเบอร์เดียวกัน
พร้อมตั้งข้อสังเกตพรรคการเมืองที่ได้หมายเลขตัวเดียว ได้คะแนนบัญชีรายชื่อมากกว่าแบบแบ่งเขต เช่น พรรคใหม่ ที่ได้เบอร์ 1 ได้ ได้คะแนนแบ่งเขต 1,365 คะแนน แต่คะแนนบัญชีรายชื่อได้ 249,731 คะแนน โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากประชาชนกาเลขผิด ทำให้บัตรเสียกลายเป็นคะแนนดีของพรรคอื่น
ส่วนการแก้ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งกรณีหย่อนบัตรผิดเขต กรอกรายละเอียดไม่ชัดเจน ผิดพลาด อ่านไม่ออก ซึ่งนอกจากบัตรจะโหลแล้ว ซองยังโหลด้วย ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือ ให้ไปรษณีย์ทุกที่กลายเป็นหน่วยเลือกตั้ง เพราะไปรษณีย์มีทั้งสถานที่ และบุคลากร ซึ่งพร้อมจัดส่งบัตรเลือกตั้งได้เลย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 66)
Tags: กกต., การเมือง, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์, นักวิชาการ, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, เลือกตั้ง, แสวง บุญมี