นายกฯ นั่งประธานคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากทม. เตรียมประชุมนัดแรกหลังกลับจากตปท.

นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง วานนี้ (18 ก.ย.) ว่า เป็นการเข้าพบเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกทม. โดยนายกฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความสำคัญและความเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน ได้แก่ กรอบระยะสั้น กรอบระยะกลาง และระยะยาว

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน โดยมีนโยบายเร่งด่วนในการกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต ในขณะที่จะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

ดังนั้น เพื่อให้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกทม.และทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร จำนวน 7 คน ได้แก่

1. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงาน

2. รมว.มหาดไทย เป็นรองประธานคณะทำงาน

3. รมว.คมนาคม เป็นรองประธานคณะทำงาน 4

. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคณะทำงาน

5. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นคณะทำงาน

6. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคณะทำงาน

7. ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

 

สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะทำงาน คือ

1. กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในทุกๆ ด้านในภาพรวมของพื้นที่กทม.

2. เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสั่งการหน่วยงานปฏิบัติและบูรณาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายและแก้ไขปัญหาในพื้นที่กทม.

3. ประสานความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานราชการในพื้นที่กทม. รวมถึงภาคเอกชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่

4. เชิญหน่วยงาน ส่วนราชการ หรือบุคคลมาชี้แจง ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาพื้นที่กทม.

5. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร

6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ เป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าพบนายกฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้หารือถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งนายกฯ มองว่า กทม. เป็นจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย มี GPP เป็น 33% ของ GDP ประเทศไทย (5.3 ล้านล้าน/ 16 ล้านล้าน) รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 30% ของประเทศ (3 แสนล้านบาท/ 1 ล้านล้านบาท) ประชากรประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ (8-10 ล้านคน/ 66 ล้านคน) และจำนวนบริษัทที่จดนิติบุคคลคิดเป็น 36% ของทั้งประเทศ (320,000 ราย/ 890,000 ราย)

อย่างไรก็ดี มีปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อน กทม. คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาการประสานงานเป็นไปได้ด้วยดีในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ โดยพบว่า หลายครั้งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันในแต่ละเรื่องเท่านั้น

ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าว จะทำงานคล้ายรูปแบบ Executive Committee ในภาคเอกชน เป็นคณะเล็กๆ ที่มีความคล่องตัว สามารถตัดสินใจและขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้

นายชัชชาติ คาดว่าหลังจากนายกฯ กลับมาจากภารกิจที่ต่างประเทศ จะนัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งแรก โดยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องที่จะผลักดัน และจะดำเนินงาน เป็นการประชุมสั้นๆ ที่มีรูปแบบการทำงาน คือ มีเป้าหมายชัดเจน ส่งต่อคำสั่งให้หน่วยงานไปดำเนินการ และดูผลลัพธ์ในตอนท้าย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการประชุมคณะทำงานฯ เดือนละ 1 ครั้ง

“ยังไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน ซึ่งเป็นคณะทำงานชุดเล็ก 7 คน มีรูปแบบการทำงานที่คล่องตัว ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก และไม่เกี่ยวกับงบประมาณใดๆ เป็นแค่การประสานกำลัง กำหนดทิศทางร่วมกัน ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงฝ่ายปฏิบัติ สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่นายกฯ ให้ความสนใจ เช่น เรื่องการจราจร ฝุ่น เศรษฐกิจ และการจัดระเบียบสายสื่อสาร” นายชัชชาติ กล่าว

 

ในส่วนของปัญหาเร่งด่วนของกทม. ที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ

– การจราจร โดยการกวดขันระเบียบวินัยจราจร การลดปัญหาจุดฝืด การทำผิดกฎจราจร การจอดรถในที่ห้ามจอด, การกำกับดูแลการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรในกทม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง สีเหลือง สีชมพู และโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน, การพัฒนาระบบสัญญาญไฟจราจรให้เป็นแบบอัตโนมัติ เชื่อมโยงกันระหว่างทางแยก และการจัดการระบบการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงกัน ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ มอเตอร์ไซค์ รถสองแถว เรือ ให้มีราคาที่เหมาะสม และสะดวก

– เศรษฐกิจ โดยการใช้ทรัพยากรของรัฐช่วยเรื่องการทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย เช่น การจัดพื้นที่ให้ขายของ, เตรียมความพร้อมในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องการส่งเสริม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ, สนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนของผู้มีรายได้น้อย และที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน, สนับสนุนการจัดทำ Special Economic Zone ในกทม. เพื่อกระตุ้นการลงทุน และ IHQ ดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้มาตั้งสำนักงานในกทม. (International Headquarters) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

– การท่องเที่ยว โดยดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) เพื่อเพิ่มแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว, ดูแลเรื่องความปลอดภัยในด้านต่างๆ ทั้งการเดินทาง การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว (รถสามล้อ แท็กซี่ ไกด์เถื่อน) คุณภาพที่พัก มาตรฐานการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และจัดงาน Winter Festival ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

– ฝุ่น PM 2.5 โดยมาตรการควบคุมการเผาข้าว อ้อย ผลิตผลทางการเกษตรทั้งในประเทศและนอกประเทศ และส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่มีการปล่อยมลพิษน้อย เช่น รถ EV และน้ำมันมาตรฐาน EURO5

– การนำสายสื่อสารลงดิน โดยเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การไฟฟ้านครหลวง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และผู้ประกอบการกทม. ในการร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสาร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top