นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องการพยากรณ์ โดยได้ประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุนิยมวิทยา ในการปรับโมเดล เนื่องจากการพยากรณ์เป็นเรื่องที่สำคัญในการเตรียมการรับมือ
ในส่วนของ กทม. ได้ทำแอปพลิเคชัน ซึ่งใกล้สำเร็จ 100% แล้ว พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการเชื่อมโยงถึงโครงการ Work from home ในช่วงที่ฝุ่นมีจำนวนมาก ซึ่งจะมีเครือข่ายที่ร่วม Work from home เพื่อลดการใช้รถและทำงานที่บ้านด้วย
สำหรับการจำกัดต้นตอฝุ่น มี 3 เรื่อง คือ
1. โรงงานอุตสาหกรรม ได้มีการหารือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว มีโรงงานทั้งหมดประมาณ 5,000 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ที่มีความเสี่ยงในการใช้เชื้อเพลิงที่อาจก่อให้เกิด PM 2.5 ประมาณ 500 แห่ง ซึ่งได้มีการประสานงานและขอรายชื่อ ตำแหน่งพิกัด และเข้าไปตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และมีโรงงานอยู่ 4 แห่ง ที่เฝ้าติดตามปล่องว่าปล่อย PM 2.5 เท่าใด (real time) โดยจะส่งสัญญาณมาที่ กทม. เพื่อที่จะสามารถติดตามโรงงานทั้ง 4 แห่งนี้ และสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงแพลนปูนก็ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาตลอด
2. รถยนต์ เป็นเรื่องที่ต้องหารือกับทางรัฐบาลด้วย เนื่องจากจะมีการปรับรถยนต์ให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ตามกำหนดการคือต้นปีหน้า รวมทั้งมาตรฐานน้ำมันที่เป็นยูโร 5 เช่นกัน ทั้งนี้ ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้เป็นไปตามแผนเดิม ขณะเดียวกัน ในส่วนของกทม. ก็ต้องร่วมมือกับตำรวจ และกรมการขนส่งทางบก ในการตรวจควันดำให้มากขึ้น ไม่เน้นตรวจบนถนน แต่เน้นตรวจที่ต้นทาง/ จุดหมายปลายทาง เช่น แพลนปูน ไซต์ก่อสร้าง ให้มากขึ้น
3. การเผาชีวมวล เป็นประเด็นที่ต้องร่วมมือกับทางรัฐบาลในแง่ของการลดชีวมวล ทั้งข้าว และอ้อย ในส่วนของต่างประเทศต้องมีการให้หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ด้านกทม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ในการจัดซื้อเครื่องอัดฟางเพิ่มเติม 3 ชุดรวมรถแทรกเตอร์ เพื่อช่วยเกษตรกรอัดฟางไปขายได้โดยที่ไม่ต้องเผา ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกสมาคมชาวนาหนองจอกขอร้องมา
ส่วนสถานการณ์ฝุ่นปีนี้จะทวีความรุนแรง หรือดีขึ้น เนื่องจากมีปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น ในส่วนนี้มี 2 แนวคิด คือ 1. เอลนีโญจะทำให้ฝุ่นไม่มาก อากาศโปร่ง และ 2. เมื่อแล้งจะเกิดการเผาชีวมวลมาก อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาคือจะมีฝุ่นมาก ดังนั้น จึงต้องเตรียมรับมือให้พร้อม
ในส่วนของการดูแลกลุ่มเปราะบางของโรงเรียน ได้มีการซื้อและติดเครื่องฟอกอากาศในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นคนละโครงการกับการติดแอร์ในห้องเรียน โดยในศูนย์เด็กเล็ก กทม.ได้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแล้ว และจะติดตั้งเพิ่มในโรงเรียน โดยเริ่มที่ชั้นเด็กเล็ก คืออนุบาล สำหรับกลุ่มเด็กโต จะเป็นการเตรียมหน้ากาก จำกัดการเข้าพื้นที่ รวมถึงการแจ้งเตือนภัย เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับมาตรการแผนแม่บท ต้องมีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากทุกส่วนช่วยกันน่าจะได้ผลดีขึ้น ส่วนเรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่น จะเริ่มที่การหาภาคเอกชนมาทำ CSR เพื่อทดสอบก่อน
*กทม.สั่งทุกหน่วยงาน stand by ช่วงฝนตก
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในเรื่องของการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. ได้มีการดำเนินการตามแผนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายๆ จุดสถานการณ์ดีขึ้น สิ่งที่ยังกังวลคือฝนตกเป็นจุดๆ ในปริมาณมาก จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา ทั้งรถโมบาย และหน่วยบริการประชาชนต้องพร้อม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 66)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ฝุ่น PM 2.5, มลพิษทางอากาศ