สหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (United Auto Workers หรือ UAW) เริ่มหยุดงานประท้วงที่โรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่งในสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยเจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด มอเตอร์ และสเตลแลนทิส หลังการเจรจาข้อตกลงเมื่อคืนวานนี้ (14 ก.ย.) ไม่ลงตัว
ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสหภาพและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ทันเส้นตายที่เวลา 23.59 น.ตามเวลาสหรัฐ โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหารือเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ความต้องการของทั้งสองฝ่ายยังคงแตกต่างกันอย่างมาก และการหยุดงานประท้วงมีโอกาส “สูงมาก” ที่จะเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายชอว์น เฟน ประธาน UAW ระบุเมื่อวันพุธ (13 ก.ย.) ว่า มีแนวโน้มที่การหยุดงานประท้วงจะเกิดขึ้น
สำหรับโรงงานที่ทำการประท้วงในครั้งนี้ได้แก่ โรงงานผลิตรถบรรทุกขนาดกลางและรถตู้ขนาดใหญ่ของเจเนอรัล มอเตอร์ในเมืองเวนซ์วิลล์ รัฐมิสซูรี, โรงงานผลิตรถกระบะฟอร์ดเรนเจอร์ขนาดกลางและรถเอสยูวี บรอนโค (Bronco) ของฟอร์ดในเมืองเวย์น รัฐมิชิแกน และโรงงานผลิตรถจี๊ป แรงเลอร์ (Jeep Wrangler) และกลาดิเอเตอร์ (Gladiator) ในเมืองโทเลโด รัฐโอไฮโอ โดยนายเฟนระบุว่า เฉพาะโรงงานของฟอร์ดนั้นจะมีเพียงพนักงานทาสีและพนักงานประกอบขั้นสุดท้ายที่จะหยุดงานประท้วง
โรงงานเหล่านี้ทำกำไรจำนวนมากให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการที่สูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีสมาชิกสหภาพจำนวนเท่าไรที่จะนัดหยุดงานประท้วงที่โรงงานเหล่านี้
โรงงานเหล่านี้ถูกเลือกโดยสหภาพแรงงานให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการนัดหยุดงานแบบกำหนดเป้าหมาย ที่ได้ประกาศไว้เบื้องต้นเมื่อคืนวันพุธโดยนายเฟน ซึ่งได้เจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 3 รายในคราวเดียวอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่เต็มใจที่จะประนีประนอมกับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานมากนัก
นายเฟนกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ของเมื่อวานนี้ผ่านแถลงการณ์ทางเฟซบุ๊กและยูทูบว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราจะหยุดงานประท้วงที่โรงงาน 3 แห่งจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่พร้อมกันในคราวเดียว เรากำลังใช้การ “ยืนหยัด” ประท้วงซึ่งเป็นกลยุทธ์ใหม่ของเรา โดยเราจะเรียกร้องให้โรงงานที่ถูกเลือกในพื้นที่หรือในหน่วยต่าง ๆ ยืนหยัดและหยุดงานประท้วง”
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลัก ๆ ของสหภาพได้แก่ การปรับขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมง 40%, ลดเวลาทำงานเหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, กลับไปใช้ระบบบำนาญแบบเดิม, ยกเลิกระดับค่าตอบแทนที่แตกต่างกัน และกลับไปใช้ระบบการปรับค่าครองชีพ (COLA) อีกครั้ง และข้อเรียกร้องอื่น ๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้เกษียณอายุ และสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นด้านการลาพักร้อนและการลาเพื่อครอบครัว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 66)
Tags: ประท้วง, ผู้ผลิตรถยนต์, ยานยนต์, สหภาพแรงงาน