ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน “การประเมินการเงินด้านโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองของไทย” (Thailand Urban Infrastructure Finance Assessment) ที่ศึกษาร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยระบุว่า นอกเหนือจากกรุงเทพฯแล้ว เมืองอื่น ๆ ของไทยก็มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องหาวิธีเข้าถึงเงินทุนภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมือง
รายงานระบุว่า กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ในขณะที่การเติบโตเริ่มชะลอตัวลง จังหวัดอื่น ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และระยอง สามารถรับไม้ต่อจากกรุงเทพฯ ด้วยการเข้าไปลงทุนด้านระบบขนส่งสาธารณะ พลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐานเขตเมืองอื่น ๆ ในจังหวัดเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับศักยภาพการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
อย่างไรก็ตาม การจะระดมเงินเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามจังหวัดเหล่านี้ ไม่สามารถพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลางได้เพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาเรื่องการกู้ยืมเงินในระดับเทศบาลและการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐด้วย
การขยายตัวในเขตเมืองจะยังประโยชน์ให้กับประชากรในเมืองและประเทศ ผ่านการมีการขนส่งและไฟฟ้าที่พึ่งพาได้มากขึ้น โดยทำให้สามารถเข้าถึงบริการตลาด การศึกษา และสุขภาพ อีกทั้งช่วยให้ผู้คน สินค้า และบริการเคลื่อนย้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด เพื่อส่งเสริมการเติบโต การจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
การบริการภาคสาธารณะ เช่น การจัดการน้ำและน้ำเสีย รวมถึงขยะมูลฝอยจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานเขตเมืองที่แข็งแกร่งขึ้นจะทำให้จังหวัดเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันจากเหตุอุทกภัยและภัยแล้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 66)
Tags: ธนาคารโลก, โครงสร้างพื้นฐาน, ไทย