นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม แถลงถึงการทำงานภายในกระทรวงคมนาคมว่า ในแง่มิติเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมถือเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ โดยเรื่องที่จะดูแลเอง ได้แก่ 1. นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และ 2.การรองรับนโยบายวีซ่าฟรี
นายสุริยะ กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ช่วงแรกจะนำเส้นทางรถไฟสายสีแดง ที่อยู่ภายใต้การบริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาให้บริการในราคา 20 บาทตลอดสายก่อน ที่คาดว่าจะเริ่มม.ค.67
หลังจากนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ รฟม. ที่อำนาจการลดราคาค่าโดยสารเป็นของคณะกรรมการ รฟม.ซึ่งจะพิจารณาอนุมัติ และดำเนินการได้ทันที ส่วน รฟท. เนื่องจากติดกรอบหนี้สาธารณะจึงต้องทำเรื่องเสนอครม. คาดว่าไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ หากได้รับการอนุมัติก็ดำเนินการได้ทันที
ส่วนการเจรจากับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทาน ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รวมถึงกลุ่มซีพี ที่มาบริหารแอร์พอร์ตลิ้ง คาดว่าจะใช้เวลาเจรจาราว 2 ปี
โดยกรอบการเจรจาว่าการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ กับทั้ง BEM , BTS นอกจากนี้ก็จะพิจารณาว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนเท่าไร ซึ่งเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง โดยจะเชิญเอกชนมาเจรจาเร็วที่สุด ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีตนเป็นประธานเพื่อเดินหน้านโยบายนี้
ทั้งนี้ จะเปิดใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกเส้นทางอย่างน้อย 2 ปี อย่างไรก็ดี การจัดซื้อระบบเพื่อทำตั๋วร่วมต้องให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง เพราะอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวเสริมว่า การใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้รายได้ลดลง โดยรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต รฟท.จะมีรายได้ลดลง 80 ล้านบาท/ปี ส่วนสายสีม่วง รฟม.จะมีรายได้ลดลง 56 ล้านบาท/ปี รวมแล้วคาดว่ารายได้รวม 136 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% ขึ้นไป คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีที่รายได้จะกลับมาเท่าเดิม เพราะรายได้จะเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายคงที่ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มากกว่า
ปัจจุบัน รถไฟสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสาร 2-3 หมื่นคน/วัน ก็จะเพิ่มมากกว่า 3 หมื่นคน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีปริมาณผู้โดยสาร 5-6 หมื่นคน/วัน จะเพิ่มกว่า 6 หมื่นคน/วัน
ส่วนโครงการเอกชนร่วมลงทุนเดินรถไฟสายสีแดงที่สมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคมนั้น นายพิเชฐ กล่าวว่า โครงการอาจจะเลื่อนไปก่อน เพราะปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารมีน้อยกว่าคาดมาก ซึ่งมีเพียง 3.8 หมื่นคน/วัน คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่หากใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็อาจจะคุ้มทุนเร็วขึ้น ก็มีโอกาสที่จะให้เอกชนเดินรถเข้ามาบริหาร
นายพิเชฐ กล่าวว่า สาเหตุที่ปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าคาดเป็นเพราะเส้นทางเดินรถสั้นเกินไป ปัจจุบันเดินรถช่วงบางซื่อ-รังสิต ดังนั้นเตรียมจะนำเสนอให้ครม.พิจารณาส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจะช่วยขนส่งผู้โดยสารจำนวนมากขึ้น
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า นโยบายวีซ่าฟรีเป็นเรื่องเร่งด่วน AOT จัด Slot การบินสำหรับฤดูหนาวนี้ให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับ นักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคนจากนโยบายวีซ่าฟรี (VISA Free) สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดู ท่องเที่ยวที่จะถึงนี้
รวมทั้ง AOT ดำเนินการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร (Capacity) โดยการปรับปรุง พื้นที่ที่มีอยู่เดิม เพิ่มจุดเช็คอิน ตรวจค้น การใช้มาตรการจูงใจให้ผู้โดยสารใช้ระบบเช็คอินด้วยตนเอง รวมถึงการปรับการให้บริการ ได้แก่การเปิดให้บริการเช็คอินสำหรับผู้โดยสารกรุ๊ปทัวร์ และการพิจารณา เปิดให้บริการท่าอากาศยานที่ เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความแออัด ของผู้โดยสารและรองรับการเดินทาง
นโยบายระยะกลาง 1-3 ปี ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกท่าอากาศยานในปัจจุบัน สามารถรองรับเที่ยวบินได้เต็มประสิทธิภาพของ Runway เช่น การก่อสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออก ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของท่าอากาศยานของ AOT ทั้งหมดสามารถ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี
ส่วนนโยบายระยะยาว 5-7 ปี ดำเนินการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตของการท่องเที่ยว แต่สนามบินในปัจจุบันมีข้อจำกัดด้าน Runway ทำให้เพิ่มศักยภาพไม่ได้ ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน (ภูเก็ต2) ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 50 ล้านคนต่อปี
ในด้านการโอนการบริหารจัดการท่าอากาศยาน ที่ปัจจุบันกรมท่าอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมมี นโยบายในการถ่ายโอนท่าอากาศยานที่มีศักยภาพในการเปิดเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ AOT เข้าดำเนินการแทน เช่น สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ รวมถึงพิจารณาท่าอากาศยานระดับภูมิภาคอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้ประชาชนผู้เดินทางได้รับประโยชน์ สูงสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 66)
Tags: BEM, BTS, รถไฟฟ้า, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ