นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยวานนนี้ (14 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหอการค้าไทย ได้มีการหารือและประเมินถึงมาตรการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และหอการค้าไทยต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีมติช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนของผู้ประกอบการทันที ในการประชุม ครม. ครั้งแรก ตามข้อเสนอเร่งด่วนของภาคเอกชน
สำหรับมาตรการที่ออกมาหอการค้าไทยได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากมาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาลจะช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับการลดราคาน้ำมันดีเซล ระยะเวลาเกือบ 4 เดือน ที่จะใช้เม็ดเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรวม 2 มาตรการดังกล่าวจะทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของประชาชนได้ 3 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะช่วยเสริมให้ GDP ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นราว 0.2-0.3%
ส่วนมาตรการวีซาฟรีชั่วคราว สำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศจีนและคาซัคสถาน ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 66-29 ก.พ. 67 ประเมินว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประมาณ 1 ล้านคน (โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะมีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นบาท/คน/ทริป) ซึ่งจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมทันที โดยกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพิ่มเติมอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกราว 0.4-0.5%
ขณะที่มาตรการพักหนี้เกษตรกร-ธุรกิจขนาดเล็ก 3 ปี ที่จะช่วยลดภาระให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการที่กำลังฟื้นตัว ทำให้สร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยปลายปีที่จะคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ จากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจก่อน ครม. เศรษฐา เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลายฝ่ายประเมินว่า GDP จะเติบโตได้เพียง 2.5-3.0% นั้น จากชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่ ครม. พึ่งมีมติออกมา หอการค้าฯ ประเมินว่าน่าจะทำให้เสริม GDP เพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 0.6-0.8% และมั่นใจว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ถึง 3% อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการหอการค้าไทย ยังได้สะท้อนให้มีการเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังค้างท่อในปีงบประมาณนี้ที่ยังรอการเบิกจ่ายให้รวดเร็ว เพื่อช่วยเสริมการเติบโตเศรษฐกิจในโค้งสุดท้ายของปี
ส่วนประเด็นนโยบายการขึ้นค่าแรง ทางคณะกรรมการหอการค้าฯ เห็นด้วยกับการยกระดับค่าแรงเพื่อให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นโดยควรเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานควบคู่ไปพร้อมกัน โดยหอการค้าไทยได้มีการหารือร่วมกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงข้อห่วงใยของภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีในการกำหนดค่าแรงที่เหมาะสม และเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 66)
Tags: GDP, คณะรัฐมนตรี, ครม., สนั่น อังอุบลกุล, หอการค้าไทย, เศรษฐา ทวีสิน