บล.กรุงศรี มีมุมมองกลุ่มขนส่ง (TRANSPORTATION SECTOR) เป็นบวก จากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม พยายามจะผลักดันให้มีการใช้ราคาตั๋วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่ในเฟสแรกจะเริ่มใช้กับสายสีม่วงและแดงก่อน ซึ่งเป็นสายที่มีจำนวนผู้โดยสารน้อยมาก การที่จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยต้องมีการให้เงินอุดหนุนจำนวนมาก หรือต้องมีการแก้สัมปทาน แต่ไม่ว่าจะดำเนินไปในแนวทางไหนก็ไม่น่าจะทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ผลประโยชน์ลดลง
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ทั้งหุ้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ราคาเป้าหมาย 11.50 บาท และบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท แต่ชอบ BEM มากกว่าเพราะกำไรมีแนวโน้มเติบโตชัดเจนมากกว่าการใช้ราคาตั๋วรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายน่าจะยุ่งยากมากขึ้น
วานนี้ นายสุริยะ แถลงต่อรัฐสภาว่าจะผลักดันมาตรการตั๋วรถไฟฟ้าราคาเดียวตลอดสาย โดยในช่วงสามเดือนข้างหน้าจะใช้ตั๋วราคา 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและแดง ส่วนขั้นตอนต่อไปจะเจรจากับผู้ประกอบการทุกราย รวมถึง BEM และ BTS ด้วยว่าจะสามารถใช้ราคาตั๋ว 20 บาทตลอดสายในระบบของทั้งสองบริษัทได้อย่างไร หนึ่งในวิธีที่อาจจะทำให้มีการใช้มาตรการนี้ได้สำเร็จคือการขยายสัมปทานให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชน
ไม่ว่ารัฐบาลตัดสินใจเลือกทางไหนก็เขื่อว่าจะไม่ส่งผลลบกับผู้ประกอบการอยู่ดี ถึงแม้ รมว.คมนาคมจะพยายามดำเนินนโยบายตั๋วราคาเดียว แต่มองว่าการดำเนินการในวงกว้างที่รวมระบบของทั้ง BEM และ BTS ไม่ใช่เรื่องง่าย เราคิดว่าการใช้ตั๋วราคาเดียวในสายสีม่วงและแดงไม่ได้ช่วยผู้ใช้รถไฟฟ้ามากนัก เพราะทั้งสองสายนี้มีจำนวนผู้โดยสารน้อย โดยสายสีม่วงมีเพียง 50,000-60,000 เที่ยว/วัน และสายสีแดงมีเพียง 19,000 เที่ยว/วันเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับสายสีเขียว (ดำเนินการโดย BTS) ที่ 600,000 เที่ยว/วัน และสายสีน้ำเงินที่ 420,000 เที่ยว/วัน
ทั้งนี้ การที่จะทำให้นโยบายนี้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญได้ ต้องดำเนินการกับสายสีเขียวและน้ำเงิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และดูเหมือนว่ารัฐมนตรีจะไม่อยากใช้เงินอุดหนุนในโครงการนี้ ดังนั้น จึงมีการยกประเด็นการขยายสัญญาสัมปทานขึ้นมา เรามองว่าการแก้สัมปทานอาจจะสร้างความสับสน เพราะจะทำให้เกิดการตรวจสอบจากสาธารณะ เรามองว่านโยบายนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้ หรือหากดำเนินการได้สำเร็จ ก็จะก่อให้เกิดภาระด้านเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ไม่ได้เป็นภาระกับฝั่งผู้ประกอบการในภาคเอกชน
เราเลือก BEM (ราคาเป้าหมาย 11.50 บาท) เป็นหุ้นเด่น แนะนำ “ซื้อ” ทั้ง BEM (ราคาเป้าหมาย 11.50 บาท) และ BTS (ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท) แต่เราชอบ BEM มากกว่าเพราะมีประเด็นการเติบโตของกำไรชัดเจนมากกว่า โดยเราคาดว่ากำไรของ BEM จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3/66 เช่นเดียวกับใน 2Q23 เพราะเป็นช่วง peak ของฤดูท่องเที่ยว แต่ในทางกลับกัน เราคาดว่าผลประกอบการของ BTS จะยังคงถูกกดดันจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของบริษัทย่อย (VGI) และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เพิ่งเปิดใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 10.40 น.
- BEM ปรับลง 0.58% หรือ 0.05 บาท มาที่ 8.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 104.97 ล้านบาท
- BTS ปรับลง 0.69% หรือ 0.05 บาท มาที่ 7.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 23.09 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 66)
Tags: BEM, BTS, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, รถไฟฟ้า, หุ้นไทย