นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ต้อนรับ บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มบริการ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “GFC” ในวันที่ 13 กันยายน 2566
GFC และบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจคลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ที่ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากแบบครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัย โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการภายใต้ชื่อ “Genesis Fertility Center” ในย่านพระราม 3 บนพื้นที่ให้บริการประมาณ 1,300 ตารางเมตร มีแพทย์ 14 ท่าน แบ่ง
บริการเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1) การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)
2) การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS)
3) การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา
4) การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ และ
5) การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination)
โดยในงวด 6 เดือน 2566 มีสัดส่วนรายได้จากบริการทั้ง 5 กลุ่มร้อยละ 70: 18: 8: 3.7: 0.3 และมีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างลงทุนขยายสาขา 2 แห่ง ได้แก่ คลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 ใช้งบประมาณลงทุน 450.87 ล้านบาท บนพื้นที่ให้บริการ 7,900 ตารางเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และคลินิกสาขาอุบลราชธานี ใช้งบประมาณลงทุน 35 ล้านบาท (เฉพาะส่วนของบริษัท) คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
GFC มีทุนชำระแล้ว 110 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 160 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 60 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 53 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทและบริษัทย่อย 1.4 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย 5.6 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 4 – 6 กันยายน 2566 ในราคาหุ้นละ 7
บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 420 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,540 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 21.17 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566) ซึ่งเท่ากับ 72.74 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภาย
หลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.33 บาท โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้บริการโดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 20 ปี มีเทคโนโลยีและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย รวมถึงการให้บริการอย่างมีคุณภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษา สำหรับเงินที่ได้จากการระดม
ทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ลงทุนในโครงการขยายสาขา รวมถึงลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
GFC มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลังเข้าจดทะเบียน คือ รศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ ถือหุ้น 25.46% นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติถือหุ้น 18.18% และ นางสาวภาสิรี อรวัฒนศรีกุล ถือหุ้น 14.55% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรเงินทุนสำรองต่างๆ
สำหรับเม็ดเงินระดมทุนครั้งนี้ บริษัทฯจะนำไปขยายการลงทุนโครงการคลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้นควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติในอนาคต โดยบริษัทฯพร้อมขับเคลื่อนองค์กร ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม พร้อมทั้งเชื่อว่าคลินิกดังกล่าว จะเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของกรุงเทพฯ สำหรับการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีบุตรยาก
นอกจากนี้ ยังลงทุนในโครงการคลินิกสาขาอุบลราชธานี เพื่อขยายฐานการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากไปยังกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแผนการขยายการลงทุนดังกล่าว ถือเป็นยุทธ์ศาสตร์การกระจายความเสี่ยงของรายได้ ที่ไม่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็น New S Curve ที่จะสร้างการเติบโตให้บริษัทฯในอนาคต
จากปัจจัยดังกล่าว สะท้อนถึงความตั้งใจของคณะผู้บริหาร ทีมแพทย์ ทีมนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และพนักงานทุกคน ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของครอบครัวที่เข้ารับการรักษาผู้มีบุตรยาก ภายใต้การมุ่งมั่นในการเติมเต็มความฝันของทุกครอบครัวให้เป็นจริง เนื่องจากกลุ่มบริษัท GFC ให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ผ่าน 5 กลุ่มการให้
บริการ ได้แก่ 1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI 3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI 4. การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (NGS) และ 5. การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ ซึ่งตอบโจทย์ทุกการให้บริการ
ดังนั้น การระดมทุนในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีบุตรยากครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพสถานะทางการเงิน ของ GFC ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเตรียมก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 66)
Tags: GFC, ประพันธ์ เจริญประวัติ