นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.พรินซิเพิล เปิดตัว “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ” หรือ Principal Vietnam Equity Retirement Mutual Fund” (PRINCIPAL VNEQRMF) เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเพื่อออมเงินสำหรับการเกษียณอายุผ่านกองทุนรวม พร้อมรับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้และรับโปรโมชั่นเมื่อสะสมยอดลงทุนในกองทุนดังกล่าวทุกๆ 50,000 บาท จะได้รับหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด PRINCIPAL DPLUS มูลค่า 100 บาทอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ออกกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ หรือ Principal Vietnam Equity Fund” (PRINCIPAL VNEQ) สามารถสร้างผลตอบแทนช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) เป็นอันดับ 1 ของกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามในประเทศไทยที่ 21.19% ชนะดัชนีเปรียบเทียบที่ทำได้ 17.81% ขณะที่ผลการดำเนินงานกองทุน ช่วง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี อยู่ที่ 18.45% 12.71% และ -2.84% ตามลำดับ สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 17.08%, 11.27% และ – 12.27% ตามลำดับ
สำหรับกองทุนเปิด PRINCIPAL VNEQRMF เสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) วันที่ 11-22 กันยายน 2566 มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท (Greenshoe 15%) สั่งซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท โดยเป็นกองทุนรวมประเภท Feeder Fund และ RMF ที่จะเข้าลงทุนในกองทุนเปิด PRINCIPAL VNEQ เป็นกองทุนหลัก ซึ่งบริหารจัดการโดยทีมผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามทั้งชาวไทยและเวียดนาม นำโดยนายชาตรี มีชัยเจริญยิ่ง หัวหน้าการลงทุนฝ่ายตราสารทุน บลจ. พรินซิเพิล พร้อมทีมงานที่มีประสบการณ์สูง
โดยกองทุนดังกล่าวมีกลยุทธ์บริหารกองทุนเชิงรุก (Active Management) เข้าลงทุนโดยตรงในหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนามหรือมีธุรกิจหลักอยู่ในประเทศเวียดนาม เพื่อคัดเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีศักยภาพเติบโตในอนาคต และเป็นผู้ชนะในระยะยาว โดยทีมบริหารกองทุนมุ่งเน้นการลงทุนอย่างระมัดระวังภายใต้กลยุทธแบบบาร์เบล (Barbell) คือลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ที่มีผลการดำเนินงานมั่นคงในทุกวัฏจักรเศรษฐกิจ และหุ้นกลุ่ม Quality Growth หรือหุ้นกลุ่มเติบโต รวมถึงกระจายการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน, เทคโนโลยีสารสนเทศ, สินค้าฟุ่มเฟือย, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, วัสดุ, กองทุน ETF เป็นต้น
นายจุมพล กล่าวว่า ประเทศเวียดนามมีศักยภาพเติบโตที่ดีและจุดเด่นหลากหลาย โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ย้อนหลัง 30 ปี (ปี 2536-2565) เฉลี่ยสูงถึง 6.4% ต่อปี และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 6.7% ต่อปีในช่วงปี 2567-2571 เนื่องจากประเทศเวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้นโดยในปี 2565 มีสัดส่วนประมาณ 4% ของ GDP จากปัจจัยด้านแรงงานที่มีคุณภาพดีแต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่สูง และปัจจัยด้านภาษีเพราะเวียดนามมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มั่นคงและเติบโตแห่งหนึ่งของโลก
อีกทั้งเวียดนามยังมีการเติบโตในภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของสังคมเมือง ประชาชนมีรายได้ต่อประชากรเติบโตสูงที่สุดในอาเซียนและกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ทำให้การบริโภคในประเทศแข็งแกร่ง ในขณะที่เศรษฐกิจและธุรกิจได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและธนาคารกลาง ทั้งการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การออกมาตรการให้ผู้ออกหุ้นกู้ที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ผู้ถือหุ้นกู้ภายในกำหนด สามารถเจรจาขอขยายระยะเวลาชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ หรือมาตรการที่อนุญาตให้ลูกหนี้ธนาคารสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ เป็นต้น
โดยภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามล่าสุดนั้น อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 7 เดือนแรกมีจำนวนกว่า 6.6 ล้านคน คิดเป็น 83% ของเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามที่ตั้งไว้ที่ 8 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขการค้าปลีกของเวียดนามอยู่ที่ 7.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 8% ทั้งนี้คาดกาณ์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนามตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น จะส่งผลให้มีอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการค้าปลีกนี้กลับขึ้นมาสู่ภาวะปกติได้
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความน่าสนใจเนื่องจากราคาตลาดหุ้นปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ โดยค่า Forward P/E ratio อยู่ที่ระดับ 10 เท่าซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่อยู่ที่ 12.4 เท่า หรือต่ำกว่าประมาณ ประมาณ -1 S.D ในขณะที่การเติบโตของตลาดหุ้นตั้งแต่ปี 2561-2567 คาดว่าจะเติบโตสูงถึงปีละ 14% จึงถือได้ว่าตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่ราคาถูกแต่มีการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย โดยตลาดหุ้นเวียดนามยังเหมาะกับการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วยเนื่องจากเป็นตลาดที่มี ความสัมพันธ์ (Correlation) ต่ำกับตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ เช่น ประทศจีน หรือประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 66)
Tags: RMF, กองทุนเปิด, จุมพล สายมาลา, บลจ.พรินซิเพิล