หนึ่งในนโยบายที่ประชาชนต้องการคำตอบจากรัฐบาลของ นายกเศรษฐา ทวีสิน คือ นโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงครั้งล่าสุด เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่านโยบายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนทั้งทางด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินดิจิทัลดังกล่าวอาจมีลักษณะการใช้งานและสถานะทางกฎหมายที่ใกล้เคียงกับ CBDC หรือ Central Bank Digital Currency ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา
CBDC หรือ Central Bank Digital Currency ได้รับความสนใจอย่างมากในระบบการเงินทั่วโลกในปัจจุบัน แนวคิดเริ่มต้นของ CBDC คือการสร้างเงินตราดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งจะเป็นรูปแบบของเงินตราที่ออกโดยรัฐและมีความเทียบเท่ากับเงินตรา (Fiat) ที่มีอยู่ในระบบการเงินแบบเดียวกับเงินสดหรือเงินธนาคารทั่วไป โดยจะถูกตรึงมูลค่าไว้เท่ากับสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ จึงไม่มีความผันผวนด้านมูลค่า (Value Fluctuation) เหมือนสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เช่น โทเคนดิจิทัล
CBDC จะเป็นเงินตรา (Fiat) หรือไม่ ตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ระบุถึง CBDC โดยตรง แต่ก็มีกฎหมายบางฉบับที่อาจนำมาใช้กับ CBDC ได้โดยอ้อม เช่น พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2485กำหนดให้เงินตราของประเทศไทย ได้แก่ ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ และพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งกำหนดให้ ธปท.มีอำนาจออกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์
หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2485 แล้ว CBDC อาจไม่ใช่เงินตรา เนื่องจาก CBDC ไม่ได้อยู่ในรูปของธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ แต่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แล้ว CBDC อาจถือเป็นเงินตรา เนื่องจาก ธปท.มีอำนาจออกธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ซึ่งอาจตีความรวมถึง CBDC ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นบางประการที่เห็นว่า CBDC ควรถูกจัดให้เป็นเงินตราตามกฎหมายของประเทศไทย เนื่องจาก CBDC มีวัตถุประสงค์หลักในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน มิใช่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อมาเพื่อการลงทุนหรือเก็งกำไร ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเงินตราตามกฎหมาย ถูกสร้างขึ้นและรับรองโดยธนาคารกลางของประเทศ คือ ธปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีอำนาจในการออกเงินตราและกำหนดมาตรฐานการเงินในประเทศ ดังนั้น CBDC ในประเทศไทยควรถือถือว่าเป็นเงินตรา (Fiat) ที่รัฐบาลรับรอง และมีความเทียบเท่ากับเงินตราในระบบการเงินภายในประเทศ
หาก CBDC ได้รับการรับรองให้เป็นเงินตราตามกฎหมายของประเทศไทยแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้ CBDC ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย และอาจส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น เพิ่มทางเลือกในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือส่งเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของระบบการเงิน
ดังนั้นแล้วเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขความเป็น “เงินตรา” ตามกฎหมายของประเทศไทย และแนวนโยบายการออกเงินตราดิจิทัลของรัฐไทยแล้ว จึงเกิดคำถามที่น่าพิจารณาว่านโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น สถานะของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวจะเป็น CBDC หรือเป็นเงินตราตามกฎหมาย หรือมีสถานะใดที่จะสามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลาง (Legal Tender) ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการในประเทศ และนโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อ CBDC ที่อยู่ระหว่างการศึกษาหรือไม่เพียงใด
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 66)
Tags: CBDC, SCOOP, ระบบการเงิน, เงินดิจิทัล