BA อัพเป้ารายได้ตั๋วปี 66 ตามราคาตั๋วขึ้นตามดีมานด์ กลับไปบินจีน พ.ย.

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเป้าขึ้นในปี 66 รายได้จากตั๋วโดยสารเป็น 1.6 หมื่นล้านบาทจากเดิม 1.5 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ปรับเป็น 78% จากเดิม 76% และราคาตั๋วเฉลี่ยปรับใหม่เป็นเฉลี่ย 3,700 บาท/เที่ยว จากเดิมวางเป้าที่ 3,400 บาท แต่ยังคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปี 66 ที่ 4.4 ล้านคน และเที่ยวบิน 48,000 เที่ยว

หลังจากในงวด 6 เดือนแรกผลประกอบการดีขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2/66 มีกำไรดีกว่าไตรมาส 2 ในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมทั้งที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่น โดยครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้จากตั๋วโดยสาร 7,389 ล้านบาท Load Factor 81% ราคาตั๋วเฉลี่ย 3,643 บาท/เที่ยว จำนวนผู้โดยสาร 2 ล้านคน และเที่ยวบิน 21,946 เที่ยว

นายพุฒิพงศ์ คาดว่าผลประกอบการในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และบริษัทเปิดเส้นทางบินใหม่ ลำปาง-แม่ฮ่องสอน เมื่อส.ค.66 ทำการบิน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก คาดว่าในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มความถี่ และเปิดเส้นทางบินใหม่ ดอนเมือง-สมุย ทำการบิน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มบิน 29 ต.ค.นี้ เพราะเห็นว่าสนามบินดอนเมืองเริ่มมีไฟลท์ต่างประเทศมากขึ้น แม้สนามบินดอนเมืองอยู่กรุงเทพเช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิแต่ลักษณะลูกค้าแตกต่างกัน โดยระยะแรกจะใช้เครื่องบินเล็ก ATR ไปก่อน

นอกจากนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ได้กลับมาทำการบิน กรุงเทพ-มัลดีฟส์ เริ่ม ก.ย.66 , สมุย -ฉงชิ่ง และสมุย-เฉิงตู ที่คาดว่าจะเริ่มบินในเดือน พ.ย.นี้ ระหว่างนี้อยู่ขั้นตอนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) ตรวจสอบไลเซ่นส์การบิน ซึ่งปัจจุบันได้นัดวันตรวจสอบแล้ว

“ภาพท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปี สายการบินเข้าไทยมากขึ้น สายการบินเดิมก็ปรับเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น แม้บางสายการบินจะกลับมาไม่ถึง 100% แต่ Load Factor เข้ามาสูงขึ้น เช่น สายการบินแถบตะวันออกกลาง และในครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มขึ้นและอาจส่งให้ผลประกอบการในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก รายได้ ผู้โดยสาร Load Factor คาดหวังไม่ต่ำกว่า 80% ราคาตั๋วน่ายืนอยู่ได้” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

*เตรียมแผนขยายฝูงบิน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า สายการบินบางกอกแอร์เวยส์เตรียมแผนที่จะขยายฝูงบินเพื่อมารองรับการขยายเส้นทางบินหรือเพิ่มเที่ยวบิน แต่เท่าที่เห็นว่าตลาดเครื่องบินยังไม่นิ่ง และตลาดภูมิภาค อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ลาว ยังเพิ่งเริ่มต้นกลับมา ส่วนในเมียนมาก็ต้องสถานการณ์ภายในประเทศให้ดีขึ้นก่อน

บริษัทจึงน่าจะทยอยเพิ่มจำนวนเครื่องบิน โดย BA จะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 2 ลำในต้นปี 67 และวางแผนในช่วง 3-5 ปี จะเพิ่มฝูงบินเป็นกว่า 30 ลำ จากก่อนโควิด บริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 40 ลำ โดยปัจจุบันมีฝูงบิน 26 ลำ แบ่งเป็น เครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 3 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A319 จำวน 13 ลำ และ เครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 10 ลำ โดยนำมาใช้บิน 20-21 ลำ ส่วนที่เหลือรอซ่อมบำรุง

ส่วนที่รัฐบาลจะดึงตารางการบิน (Slot) จากกองทัพอากาศมาให้เอกชนใช้นั้น นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่า Slot ที่ได้มาตรงกับความต้องการหรือไม่ เพราะถ้าได้ช่วงเวลาที่ไม่ได้ต้องการก็ไม่ช่วยอะไร เห็นว่าต้องการเพิ่ม Slot ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีดีมานด์จะเป็นประโยชน์

นอกจากนี้ นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังสนใจลงทุนสนามบินในจ.พังงา เพราะเห็นว่าสนามบินภูเก็ตในปัจจุบันมีความแออัดมากและเที่ยวบินมีจำนวนมาก แต่ก็ต้องรอดูว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะลงทุนสนามบินใหม่หรือไม่

*นโยบายฟรีวีซ่าให้จีน-อินเดียไม่ปัง

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า จากการที่ได้พบปะและหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการโปรโมทให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทยและจะใช้ฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย หากทำได้ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ตนมองว่า นักท่องเที่ยวจีนอาจมาไม่ได้มาก เพราะรัฐบาลจีนยังเข้มงวดคนจีนออกมาเที่ยวนอกประเทศ โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนกลับมาไทยประมาณ 2 ล้านกว่าคน หรือเพียง 30% ของช่วงก่อนโควิดที่เคยเข้าไทยถึง 10 ล้านคน ส่วนอินเดียก็ติดเรื่องสิทธิการบินที่จำกัด

อย่างไรก็ดี นโยบายฟรีวีซ่า ก็จะช่วยตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมาเข้ามาได้เรื่อยๆ แต่หากเป็นเพียงการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำวีซ่า เห็นว่าน่าจะมีขั้นตอนที่ต้องทำวีซ่าซึ่งจะให้ความสะดวกเข้ามาท่องเที่ยวน้อยกว่าการให้ฟรีวีซ่า

นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวว่า อีกเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือการลดภาษีสรรพาสามิตน้ำมันเครื่องบินที่กลับมาเก็บ 5 บาท/ลิตร จากที่เคยช่วยลดให้อยู่อัตรา 0.20 บาท/ลิตร เพราะจะช่วยลดต้นทุนของสายการบิน

*ปีนี้ยังรับขาดทุนสะสมแต่น้อยลง

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวว่า ผลประกอบการในปีนี้น่าจะเริ่มเป็นบวก อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีขาดทุนสะสมอยู่ 1.3 หมื่นล้านบาทที่เป็นผลจากวิกฤตโควิด โดยในปีนี้บริษัทจะนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นมาตัดขาดทุนสะสม แต่ยังไม่หมดโดยเหลือขาดทุนสะสม 4 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทก็คาดหวังจะมีผลประกอบการดีเพื่อล้างขาดทุนสะสมได้เร็ว โดยยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปีไหนขาดทุนสะสมจะหมดไป

ส่วนแผนการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (BAREIT) เพิ่มเติม คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีน่าจะนำสนามบินสมุยอีกส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยต้องการอให้สนามบินมีกิจกรรมมากขึ้น รายได้ก็จะมากขึ้น โดยปัจจุบัน กองทรัสต์ BAREIT มีรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท และค่อยๆเพิ่มปีละ 2% ตั้งแต่ปี 67

*คาด UTA ได้เริ่มงานต้นปี 67

สำหรับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ที่เป็นผู้รับสัมปทานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกนั้น นายพุฒิพงศ์ คาดว่า กองทัพเรือ (ทร.) ที่เป็นเจ้าของพื้นที่โครงการน่าจะส่งมอบพื้นที่ได้หลังจากเปิดประมูลรันเวย์และจะมีหนังสือ NTP ที่เริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 67 โดยการเริ่มงานได้ต้องทำเงื่อนไขให้ครบดังนี้ 1. การตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ทร.และ UTA 2.ร่วมลงนามการใช้ทางวิ่ง (Runway) ซึ่งเซ็นแล้ว 3. การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่ง ทร.ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 4. ทร.ประมูลก่อสร้างทางวิ่ง 2 ซึ่งคาดว่าจะประกาศเร็วๆนี้ และ 5. UTA ต้องมีการตกลงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้ตารางเดินรถเข้ากับตารางการบิน ซึ่งยังพูดคุยไม่เสร็จ

นายอนวัช กล่าวว่า UTA เตรียมทยอยเพิ่มทุนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ถ้ายังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ก็ยังไม่ใส่เงินเพิ่มทุน ทั้งนี้ UTA จะเริ่มงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) เฟสแรก ที่รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคน/ปี ซึ่งได้ปรับลดจากเดิมเฟสแรกรองรับ 15 ล้านคน/ปี โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยจะใช้เงินกู้ 70% ส่วนทุน 30% ซึ่งคาดว่าจะใช้ส่วนทุน 9 พันล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top