นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มจะยาวนานไปจนถึงปี 67 ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดสู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด พร้อมนำ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (เพิ่มเติม) ที่ กอนช.กำหนด มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้แก่
1. จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด อย่างรอบคอบ และรัดกุม
2. ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ งดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ซึ่งได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดแล้ว
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่า
ด้านมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร รองรับสถานการณ์เอลนีโญ ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2567 มีเป้าหมาย 90,000 คน ช่วยเหลือภัยแล้ง อาทิ การสูบน้ำช่วยเกษตรกร จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และการขุดลอกเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก รวมถึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ สำรวจแหล่งน้ำสำรองของแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ปัจจุบัน (7 ก.ย.66 ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,223 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 6,020 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,260 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 3,321 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้ น้อยกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก
“ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เร่งเก็บกักน้ำ และสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ”
อธิบดีกรมชลประทาน ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 66)
Tags: กรมชลประทาน, ประพิศ จันทร์มา, เกษตรกร, เอลนีโญ