นายไมค์ กัลลาเกอร์ ประธานคณะกรรมการเกี่ยวกับจีนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวเมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) ว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐควรยุติการส่งออกเทคโนโลยีทุกชนิดให้กับบริษัทหัวเว่ยและบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (SMIC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของจีน จากกรณีที่มีการตรวจพบว่าชิปรุ่นใหม่ของมือถือหัวเว่ยอาจละเมิดข้อจำกัดด้านการค้า
ความคิดเห็นดังกล่าวของนายกัลลาเกอร์ ผู้ทรงอิทธิพลจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งกดดันฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนให้แสดงจุดยืนที่เข้มงวดมากขึ้นในการส่งออกเทคโนโลยีของสหรัฐไปยังจีนนั้น มีขึ้นหลังจากที่หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของจีนจำหน่ายมือถือรุ่นเมท 60 โปร (Mate 60 Pro) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมือถือรุ่นดังกล่าวมีชิปที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า สร้างขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (SMIC)
นายกัลลาเกอร์ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า “ชิปเหล่านี้ไม่น่าจะสามารถผลิตได้ หากปราศจากเทคโนโลยีของสหรัฐ และด้วยเหตุนี้ SMIC จึงอาจละเมิดกฎเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามบริษัทต่างชาติขายสินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีของสหรัฐ (Foreign Direct Product Rule หรือ FDPR) และบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติการส่งออกเทคโนโลยีของสหรัฐให้กับหัวเว่ยและ SMIC เพื่อแสดงให้บริษัทอื่น ๆ เห็นว่า องค์กรใดก็ตามที่ดูหมิ่นกฎหมายของสหรัฐและบั่นทอนความมั่นคงของชาติจะถูกตัดขาดจากเทคโนโลยีของเรา”
นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 หัวเว่ยถูกจัดอยู่ในบัญชีดำทางการค้าของสหรัฐ เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ ทำให้ซัพพลายเออร์ในสหรัฐและบริษัทอื่น ๆ จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตพิเศษในการจัดส่งสินค้าไปยังบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อจำกัดทางการค้าที่สหรัฐบังคับใช้กับหัวเว่ย รวมถึง FDPR นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทใด ๆ ก็ตามในโลกใช้เครื่องมือจากสหรัฐในการผลิตชิปให้กับหัวเว่ย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 66)
Tags: SMIC, ชิปเซมิคอนดักเตอร์, ส่งออก, สหรัฐ, หัวเว่ย, เทคโนโลยี