นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
ในที่ประชุม นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ รายละเอียดการปรับลด รวมถึงข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,570,138,630 บาท
โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับ แล้วจึงพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดประกอบการพิจารณา
“งบประมาณที่ผ่านคณะกรรมการวิสามัญฯ ในครั้งนี้มีมากกว่า 90,000 ล้านบาท กรรมการได้พิจารณาโดยยึดหลักความคุ้มค่า เป็นประโยชน์กับประชาชน รวมถึงสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน” นายสุทธิชัย กล่าว
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 ของกรุงเทพมหานคร สามารถเรียงลำดับหน่วยงาน/ เขตที่ได้รับงบประมาณสูงสุดและน้อยสุด ดังนี้
– หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา จำนวน 10,199,547,439 บาท สำนักการระบายน้ำ จำนวน 7,860,495,076 บาท และสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 7,673,180,800 บาท
– หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 71,184,800 บาท สำนักงบประมาณ จำนวน 85,596,510 บาท สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 189,471,700 บาท
– สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 774,356,920 บาท สำนักงานเขตหนองจอก จำนวน 754,150,533 บาท และสำนักงานเขตจตุจักร จำนวน 701,898,570 บาท
– สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 237,412,410 บาท สำนักงานเขตบางรัก จำนวน 251,616,775 บาท และสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 275,383,900 บาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางขอจัดสรรงบปีต่อไป ดังนี้
1. หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ควรเร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
2. กรุงเทพมหานคร ควรสนับสนุนให้นำพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น ไฟฟ้าแสงสว่างจากโซล่าเซลล์ (Solar Cell) เพื่อประหยัดพลังงานและงบประมาณ
3. การดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ควรประเมินปัญหาอุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครและประชาชนจะได้รับ รวมทั้งต้องติดตามและรวบรวมผลการประเมิน เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนางานที่จะทำต่อไปให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, วิรัตน์ มีนชัยนันท์, สภากทม.