องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566” วันที่ 6 กันยายน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) รวมพลังคนไทยกว่า 3,000 คน ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชูนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เร่งรัดออกกฎหมายแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
นายวิเชียร พงศธร ประธาน ACT กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 12 ของการจัดงาน วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเวทีแสดงออกถึงพลังของทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และการที่งานวันนี้มีผู้นำรัฐบาลใหม่มาร่วมย่อมเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้รับฟังนโยบาย แนวทางการลงมือปฏิบัติ ตลอดจนเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการทุจริต
สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ จากความรุนแรงและขนาดของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนทั้งในทางสังคมมิติต่าง ๆ และในทางเศรษฐกิจที่ยากจะประเมินมูลค่าความเสียหายได้ เพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ สั่งสมมานาน มีความรุนแรงกว่าปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในนามองค์กรภาคประชาชน จึงขอเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน” (War Room for Anti-Corruption) เร่งแก้วิกฤติคอร์รัปชันในเชิงรุกเป็นพันธกิจหลัก บนหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
“การจะก้าวข้ามวิกฤติคอร์รัปชันได้สำเร็จ จนเกิดเป็นความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคมนั้น จำเป็นต้องอาศัยบทบาทและพลังความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งความมุ่งมั่นในนโยบายและการปฏิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ไม่ลดทอนพลังการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องรับผิดชอบจริงจัง ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมนี้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้น” นายวิเชียรกล่าว
สำหรับการจัดงานในปีนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด WHAT THE FACT ? “ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างง่ายดาย โดยมีประชาชนและองค์กรต่าง ๆ กว่า 3,000 คน ร่วมเดินขบวนพาเพรดแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลชุดใหม่ นำโดยนายเศรษฐา
ในฐานะองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลใหม่ 5 ข้อ ดังนี้
1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล
3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
4. ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
5. แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม
ภายในงานได้จัดเวทีเสวนาพลังหญิงต้านโกง “ACTIVE WOMEN” เพื่อแสดงบทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเชิญผู้มีอิทธิพลทางความคิดในภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นางสาวปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม และนางจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง
นอกจากนี้ ได้มีการสาธิตการใช้งานเว็บไซต์ “ACT Ai” โดยนายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้านไอที ที่เปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตได้ง่าย ๆ เพียง “แค่สงสัยก็เสิร์ช ACT Ai เลย” เป็นช่องทางในการให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่มีข้อสงสัยได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ “ACT Ai”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)
Tags: ACT, วันต่อต้านคอร์รัปชัน, วิเชียร พงศธร, สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, สถานีกลางบางซื่อ, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, เศรษฐา ทวีสิน