นักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของคณะรัฐบาลชุดใหม่ของไทยอาจจะส่งผลให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น
นักวิเคราะห์ของฟิทช์แสดงความเห็นดังกล่าวในการประชุมประจำปีของฟิทช์ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อวันอังคาร (5 ก.ย.) โดยในการเปิดประชุมครั้งนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อทิศทางของการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, and Governance – ESG) และการลงทุน
*คาดเศรษฐกิจไทยไม่มีภูมิต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นายเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ กล่าวว่า ฟิทช์คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้ม ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงเผชิญกับความยากลำบากจากปัญหาเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะยังคงสูงกว่าเป้าหมายไปจนถึงปี 2567
นายแมคคอร์แมคกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถปรับตัวรับกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงขึ้น แต่การขยายตัวของการจ้างงานเริ่มชะลอตัวลง และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมอ่อนแอลง ส่วนเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงด้วยปัจจัยที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคส่วนอื่น ๆ จนทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับปานกลาง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจีนจะออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ระดับ 5% ในปี 2566 ได้หรือไม่
สำหรับประเทศไทยนั้น ฟิทช์มองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เมื่อพิจารณาจากการส่งออกที่หดตัวลงเมื่อเทียบเป็นรายปีนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด
ฟิทช์เชื่อว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคของไทยจะสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่เป็นเอกฉันท์ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่มีจำนวนพรรคการเมืองหลายพรรคนั้นจะทำให้กระบวนการการออกนโยบายมีความซับซ้อน และอาจทำให้การอนุมัติงบประมาณประจำปีซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนก.ย. 2567 ต้องล่าช้าออกไป นอกจากนี้ คาดว่าความแข็งแกร่งด้านการคลังของไทยจะถูกกระทบจากการที่พรรคการเมืองหลายพรรคเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายทางสังคม ซึ่งนโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของรัฐบาลต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปรับตัวสูงขึ้น นอกเสียจากว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
* แนวโน้มภาคธนาคารไทยยังสดใส
โจนาธาน คอร์นิช กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายธนาคารเอเชีย-แปซิฟิกของฟิทช์ กล่าวว่า แนวโน้มของภาคธนาคารในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญขาลง แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ฟิทช์ยังคงให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของธนาคารไทยทุกแห่งมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเอื้ออำนวยต่อความสามารถในการทำกำไรและการระดมทุนของธนาคารต่าง ๆ แม้ยังมีความเสี่ยงในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ก็ตาม นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารขนาดใหญ่ของไทยมีโอกาสในการเติบโตในธุรกิจนอกภาคธนาคาร (non-bank) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)
Tags: ฟิทช์ เรทติ้งส์, ศรีกัญญา ยาทิพย์, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ