ยอดใช้พลังงาน H1/66 โต 2.5% ฟื้นตามเศรษฐกิจในปท. คาดทั้งปีโต 2.1%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงาน ในช่วงครึ่งแรกของปี 66 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้น มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 2,059 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 3.4% และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 7.0% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าในสาขาท่องเที่ยวและบริการ ที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลง 10.7% จากปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำเหนือเขื่อนของ สปป.ลาว มีปริมาณลดลง สำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ปรับตัวลดลงจากการใช้ที่ลดลงทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โดยการใช้ถ่านหินลดลง 7.4% และการใช้ลิกไนต์ลดลง 6.3%

สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 66 สรุปได้ดังนี้

– การใช้น้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 142.6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.7% โดยการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 72.3 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล อยู่ที่ 31.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ 13.7 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 78.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการใช้น้ำมันเตา อยู่ที่ 6.1 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

– การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 3,264 พันตัน ลดลงเล็กน้อย 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จำแนกเป็นการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุด คิดเป็น 43% มีการใช้ลดลง 4.1% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 11% มีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ภาคครัวเรือน มีสัดส่วน 31% มีการใช้ลดลง 1.7% ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ สัดส่วน 14% การใช้เพิ่มขึ้น 5.2% เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 66 เป็นต้นมา

– ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,435 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.3% โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 6.8% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ที่เพิ่มขึ้น 3.0% จากการที่ภาครัฐยังคงมาตรการคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 65 ถึง 15 มิถุนายน 66

ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอื่น ๆ ลดลง 4.0% และ 6.1% ตามลำดับ ซึ่งมาจากความต้องการสินค้าและบริการของโลกที่ลดลง โดยสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เฉลี่ยของครึ่งปีแรกที่ปรับตัวลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

– ถ่านหิน/ลิกไนต์ มีการใช้รวมทั้งสิ้น อยู่ที่ระดับ 7,820 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ลดลง 7.2% สำหรับการใช้ลิกไนต์ อยู่ที่ 1,629 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ลดลง 6.3% ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้ลิกไนต์ 99% เป็นการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีการใช้ลดลง 2.2% สำหรับสัดส่วนการใช้ลิกไนต์ที่เหลือ 1% ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม การผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลง 81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณการผลิตลิกไนต์ในประเทศ เนื่องจากการหมดอายุสัมปทานของเหมืองบริษัทเอกชน

– การใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 101,043 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 2.2% โดยมาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการเปิดประเทศในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 9.3% โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในสาขาโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และเกสต์เฮาส์

ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 3.8% จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัว สำหรับการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.8% และสาขาอื่น ๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้น 10.5%

ทั้งนี้ ในปี 66 มีความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 66 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 MW เพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

*คาดปริมาณใช้ทั้งปีโต 2.1%

ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 66 จะอยู่ที่ระดับ 2,033 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.1% การใช้น้ำมัน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 836 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.2% การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 813 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.9% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ จะอยู่ที่ระดับ 322 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลง 5.4% และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 26 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 201,913 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 2.4%

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top