สหรัฐสั่งเรียกคืนอุปกรณ์กำเนิดก๊าซถุงลมนิรภัย หลังพบบกพร่องด้านความปลอดภัย

สำนักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐ (NHTSA) เปิดเผยในวันอังคาร (5 ก.ย.) ว่า อุปกรณ์กำเนิดก๊าซถุงลมนิรภัย (air bag inflator) ที่ผลิตโดยบริษัทเออาร์ซี ออโตโมทีฟ (ARC Automotive) และเดลฟี ออโตโมทีฟ (Delphi Automotive) จำนวน 52 ล้านชิ้นจำเป็นต้องถูกเรียกคืน เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้อาจแตกร้าวและทำให้เศษโลหะอันตรายปลิวกระเด็นออกมา

NHTSA เรียกร้องให้เรียกคืนอุปกรณ์ดังกล่าวภายในเดือนพ.ค. แต่เออาร์ซีได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดย NHTSA ได้ประกาศคำตัดสินเบื้องต้นเมื่อวานนี้ (5 ก.ย.) และกำหนดการประชุมสาธารณะในวันที่ 5 ต.ค.

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุปกรณ์กำเนิดก๊าซถุงลมนิรภัยที่ NHTSA ต้องการให้เรียกคืนได้รับการติดตั้งในรถยนต์ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงต้นปี 2561 ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรถยนต์ 12 ราย รวมถึง เจเนอรัล มอเตอร์ (GM), ฟอร์ด มอเตอร์, สเตลแลนทิส, เทสลา, โตโยต้า มอเตอร์ และ โฟล์คสวาเกน

NHTSA ระบุว่า “อุปกรณ์กำเนิดก๊าซถุงลมนิรภัยที่แตกออกเมื่อถูกสั่งใช้งานนั้นนับเป็นข้อบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะไม่สามารถปกป้องผู้โดยสารในรถได้ตามที่ควรจะเป็น แต่ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้โดยสารจะบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตโดยใช่เหตุ”

NHTSA ระบุว่า กรณีการแตกร้าวของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซถุงลมนิรภัยนั้นได้รับการยืนยันแล้ว 7 รายในสหรัฐจากรถยนต์ที่ทาง NHTSA ต้องการให้เรียกคืน โดยมีผู้บาดเจ็บ 7 รายและเสียชีวิต 1 ราย

ทั้งนี้ NHTSA ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องการแตกของอุปกรณ์กำเนิดก๊าซถุงลมนิรภัยมานานกว่า 15 ปีแล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top