ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (ส.ค.66) และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวอยู่ที่ 36.2 และ 38.9 จากเดือนก.ค.66 อยู่ที่ 36.0 และ 38.8 ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่ในระยะข้างหน้าดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับปัจจัยหนุนจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ อาทิ ภัยแล้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ดัชนีฯ ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง
โดยเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลลดลงเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการที่ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว โดยสถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวไปนอกภาคบริการและเกษตรกรรมมากขึ้น สะท้อนผ่านข้อมูลผู้มีงานทำในกลุ่มการขายส่งและการขายปลีก การผลิต และการก่อสร้างเดือนก.ค.66 ที่ปรับดีขึ้นจากเดือนมิ.ย.66 อ
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนไทยดูเหมือนจะมีความกังวลเพิ่มขึ้นในด้านราคาสินค้า โดยครัวเรือนไทยยังคงต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม อาทิ ราคาสินค้าเกษตรที่อาจปรับขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณผลิตลดลง รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน
นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้ โดยในไตรมาส 1/66 ครัวเรือนมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง สะท้อนผ่านสัดส่วนของหนี้เสียหรือหนี้ ที่มียอดค้างชำระมากกว่า 3 เดือน (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย โดยหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยผลสำรวจพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ (78.8%) ยังไม่มีแผนที่จะก่อหนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับครัวเรือนอีกส่วนหนึ่ง (21.2%) ที่มีแผนต้องการก่อหนี้เพิ่มเติม ต้องการนำเงินกู้ดังกล่าวไปเสริมสภาพคล่องมากที่สุด 33.0% รองลงมา เป็นการวางแผนกู้เงินนำไปลงทุนเพื่อมาประกอบกิจการ 27.8% การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ 21.7% และการซื้อบ้านหรือที่พักอาศัย 12.7%
นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีแผนที่จะนำเงินกู้ไปใช้ในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ค่าการศึกษา และค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จึงอาจมีผลต่อการตัดสินใจของครัวเรือนในการก่อหนี้เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ดัชนี KR-ECI ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2/66 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนมุมมองด้านรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนไทย
นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชัดเจนแล้ว หลังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยได้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 และคาดว่าจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงต้นเดือนก.ย.66 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในข้างต้นรัฐบาลชุดใหม่จะมุ่งเน้นไปที่มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ และการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายของปีนี้ก่อน ซึ่งก็อาจช่วยบรรเทาความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิ จและการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้าได้
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของดัชนีฯ ยังคงต้องเผชิญกับหลายปัจจัยท้าทาย อาทิ ภัยแล้งจากผลของปรากฎการณ์เอลนีโญในระยะข้างหน้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาด ซึ่งอาจกดดันเศรษฐกิจไทยผ่านภาคท่องเที่ยวและการส่งออกไทย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2566 ดัชนี KR-ECI ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: ค่าครองชีพ, ดอกเบี้ย, ดัชนีครัวเรือนไทย, ภาวะเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย