นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) ในฐานะประธานวิป สส.พรรค เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลดูเหมือนถูกรุมกินโต๊ะ โดยบรรยากาศเป็นแบบนี้มาสักพักแล้ว ซึ่งความพยายามตอนนี้คือ พยายามให้ก้าวไกลยอม แล้วเอา 6-7 คณะที่ไม่มีใครเลือกเลยไปเป็นประธาน
ทั้งนี้ ในปี 62 มีกติกาคือ พรรคที่ได้เสียงเป็นอันดับแรกจะเลือก กมธ.ไปก่อนแล้ววนกันไป ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบที่ได้เลือกก่อน สุดท้ายทุกคนก็ไม่ได้ทุกอย่างและไม่ได้เสียทุกอย่าง เหมือนหยิบไพ่เข้าไปอยู่ในมือแล้วก็มาเจรจาแลกกันเอง และทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ครั้งนี้มีการเสนอพรรคร่วมรัฐบาลว่า ให้แต่ละพรรคเลือกมาก่อน หากซ้ำกันค่อยมาเจรจาตกลงกัน ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต้องการเป็นประธาน กมธ.ที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้ากระทรวง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเลือก กมธ.แทบจะไม่ซ้ำกัน ทุกพรรคสามารถตกลงกันได้หมด
“โดยธรรมชาติของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลต้องมีการเลือกซ้ำกัน เนื่องจากพรรคใหญ่ของฝ่ายค้านคือ พรรคก้าวไกลก็จะซ้ำเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นการโยนมาว่าปัญหาคือพรรคก้าวไกลไปเลือกซ้ำกับคนอื่น แบบนี้ไม่แฟร์กับพรรคก้าวไกลเท่าไหร่ แล้วจะบอกว่าเราไม่ถอยเหรอ ก็ต้องถามกลับว่า แล้วคุณไม่ถอยในคณะ กมธ.ที่คุณเป็นเจ้ากระทรวง เพื่อให้เราตรวจสอบบ้างเลยหรือ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
สำหรับแนวคิดของพรรคก้าวไกลนั้น คณะที่ควรเป็นของฝ่ายค้าน กมธ.ตรวจสอบงบฯ และ กมธ.ปปช. ถือเป็นความสง่างามของรัฐสภา ในการถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบว่า การใช้งบประมาณ และการปราบปรามการทุจริต จะต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายค้าน ที่ฝ่ายรัฐบาลเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ แต่ก็กลับตกลงกันไม่ได้ ขณะเดียวกันยังมีนโยบายที่ต้องการผลักดัน เช่น กมธ.แรงงาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ และกมธ.ที่ดิน ที่เราเคยเป็นประธาน ก็อยากจะผลักดันนโยบายต่อเนื่อง ก็มีติดขัดซ้ำกัน นอกจากนี้ยังมองคนของพรรค มีศักยภาพในการนั่งประธานกระทรวงใดบ้าง หากจะโยนอันที่ไม่มีใครเลือกมาให้ ก็อาจจะไม่มีคนศักยภาพพอในประเด็นนั้น และต้องรับกมธ.นั้นมาแทน ทำให้กลไกการตรวจสอบอ่อนแอ
ส่วนการตั้งประเด็นว่าพรรคก้าวไกลมีปัญหา ซึ่งตอนนี้การพูดคุยกับพรรครัฐบาลมี 3 หลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ ข้อบังคับข้อกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ และการพูดคุยเจรจา ซึ่งอันไหนหากพรรครัฐบาลได้เปรียบก็จะเลือกหลักนั้นขึ้นมา พอพรรคก้าวไกลเสนอไปก็จะพูดว่า ธรรมเนียมปฏิบัติไม่เคยทำแบบนี้ พอเสนอธรรมเนียมปฏิบัติก็บอกว่าเป็นการเจรจาตกลงกัน เหมือนทุกทางที่ได้เปรียบก็จะหยิบยกขึ้นมา และพรรคก้าวไกลก็จะเป็นพรรคเดียวที่ไม่ไปตาม ซึ่งมองว่า จะเป็นการรุมกินโต๊ะกันเยอะไป และการที่จะให้ไปคุยทีละพรรคที่ซ้ำที่มีอยู่ 3-4 พรรค ก็ตั้งคำถามว่า หากใช้วิธีการพูดคุยเจรจาเป็นหลัก คณะที่ไม่ซ้ำกันเลยก็เอาไปเลย อันที่ซ้ำไปคุยแล้ว แล้วถ้าหากทั้ง 3-4 พรรคนั้น ไม่ถอยให้พรรคก้าวไกล เรื่องจะจบอย่างไร และถ้าหากถึงตอนนั้น แล้วพรรคก้าวไกลไม่ยอม จะกลายเป็นคนดื้อหรือไม่ หรือจริงๆแล้ว 3-4 พรรคนั้นไม่ถอยให้พรรคก้าวไกลสักก้าวหนึ่งเลย
โดยกมธ.ที่เลือกซ้ำกัน คือ กมธ.ที่ดิน กมธ.แรงงาน ส่วนกมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ และ กมธ.ติดตามงบฯ ลงตัวแล้ว แต่ยังติดปัญหาการเจรจาคือ กมธ.ปปช. ส่วนที่เหลือไม่ได้เจาะจง แต่ไม่ได้รับความยืดหยุ่นกลับมาเลย
ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังยืนยันจะนั่ง กมธ.ป.ป.ช. แต่ส่วนตัวก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า 2 กมธ.นี้ เป็น 2 กมธ.หลักที่ควรจะต้องเป็นของฝ่ายค้าน และก็ปฏิบัติเช่นนั้นมา จะเป็นภาพที่สง่างาม ในการทำงานของสภาที่จะยืนยันว่า กลไกหลักของสภาคือ กมธ. สามารถทำงานตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้เต็มที่ ซึ่งถ้าหากนำพรรคแกนนำรัฐบาลมานั่ง กมธ.ป.ช.ช. ภาพก็ไม่สวยงามแล้ว เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกันเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: การเมือง, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, พรรคก้าวไกล, พรรรคร่วมรัฐบาล