เอ็มเบอร์ (Ember) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดระดับโลกเผยแพร่รายงานในวันนี้ (5 ก.ย.) ระบุว่า กลุ่มประเทศ G20 มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัว (per capita emissions) เพิ่มขึ้นเกือบ 7% จากปี 2558 เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยจีนและอินเดียเพิ่มโรงงานแห่งใหม่หลายแห่ง ในขณะที่อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวของออสเตรเลียสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 3 เท่า
ในขณะที่กลุ่มประเทศ G20 เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ที่อินเดียในสัปดาห์นี้นั้น มีประเทศสมาชิกมากถึง 7 ประเทศ ได้แก่ จีน บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐ ยังไม่ได้ร่างแผนการยุติการใช้ถ่านหิน
รายงานระบุว่า กลุ่มประเทศ G20 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ในภาคส่วนพลังงานโลก โดยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวจากพลังงานถ่านหินอยู่ที่ระดับ 1.6 ตันในปีที่แล้ว เพิ่มจากระดับ 1.5 ตัน ในปี 2558 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมากที่ 1.1 ตัน
จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุด โดยมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวที่ระดับ 3.1 ตันในปี 2565 เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2558 แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 670 กิกะวัตต์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ จีนได้ให้คำมั่นว่าจะเริ่มลดการใช้ถ่านหิน แต่จะยังไม่เริ่มจนถึงกว่าจะถึงช่วงการวางแผนระหว่างปี 2569-2573 โดยจีนยังคงพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการศึกษาล่าสุดพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้รับการอนุมัติแล้วหรือกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างในจีน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 243 กิกะวัตต์ ซึ่งมากเพียงพอที่จะแจกจ่ายไฟฟ้าได้ทั่วทั้งประเทศเยอรมนี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: G20, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซเรือนกระจก, ประชุม G20