คณะกรรมการธนาคารออมสิน อนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions Roadmap) ทั้ง 3 Scope ภายในปี 2050 โดยในอีก 7 ปีข้างหน้าตั้งเป้า Net Zero สำหรับ Scope 1 และ 2 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ขณะที่ Scope 3 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน ธนาคารจะดำเนินการคู่ขนานจนสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลงได้มากกว่า 50% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสินกว่า 97% มาจากการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน (Scope 3) ซึ่งมีการจัดเก็บและคำนวณได้จากวิธีการตามมาตรฐาน Science-Based Target Initiative ที่เป็นสากล
นับจากนี้ไป ธนาคารได้กำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (No Coal and Coal Related Business) และเริ่มการใช้ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผลคะแนน ESG Score จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยธนาคารพร้อมมอบส่วนลดดอกเบี้ย และ/หรือ อนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้เป็นพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธนาคารออมสิน นับเป็นผู้ริเริ่มนำเอา ESG Score มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเป็นธนาคารแรกของประเทศ โดยธนาคารได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Exclusion List หรือ ธุรกิจที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง โดยจะไม่ให้สินเชื่อและไม่ลงทุนเพิ่มในธุรกิจถ่านหินและธูรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน
2. Negative List หรือ ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมาก หรือต่ำกว่า 2 คะแนน โดยธนาคารจะเข้าทำ Positive Engagement กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
3. Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม BCG, Green Building, ธุรกิจ EV และ Supply Chain, Clean tech หรือเทคโนโลยีดูดซับ/กักเก็บคำร์บอน, Renewable Energy, บริษัทที่กำหนด Net Zero 2050 หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง เป็นต้น โดยสิทธิประโยชน์ที่จะให้ เช่น ลดดอกเบี้ย ให้สินเชื่อในกรอบวงเงินสูงกว่าลูกค้าทั่วไป
นายวิทัย กล่าวว่า เป้าหมายแรกคือภายในปี 2030
– ธนาคารไม่มีสินเชื่อคงค้างและพอร์ตการลงทุนในธุรกิจถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลงเหลืออยู่ จากปัจจุบันที่ปล่อยกู้ธุรกิจถ่านหินรายใหญ่อยู่ 1 ราย
– โครงการโรงไฟฟ้าจะปรับพอร์ตสินเชื่อในกลุ่มนี้ 35% ต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
– 40% ของสินเชื่อบริษัทจดทะเบียนจะต้องกำหนดเป้าหมาย Net Zero 2050 และผลักดันให้ส่วนที่เหลือกำหนดเป้าหมาย Net Zero 2050 (ทั้งสินเชื่อและการลงทุน)
– ไม่ลงทุนเพิ่มในบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจ Oil & Gas ทั้งการลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ และโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดโดยติดตั้ง Solar Rooftop ภายในสำนักงานใหญ่และสาขากว่า 900 แห่งภายในปี 2025 การเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้าในธุรกิจธนาคาร รวมถึงการปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ป่า เป้าหมายแรก 50,000 ไร่ภายในปี 2033 เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สาคัญ และช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ เป็นต้น
ขณะที่เป้าหมายต่อจากนั้นภายในปี 2040 จะต้องไม่มีการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนกลุ่ม Oil & Gas เหลืออยู่ในพอร์ต ไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในกลุ่มนี้ รวมถึงไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่ให้สินเชื่อเพิ่มในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้รับรอง Green Building
นายวิทัย กล่าวว่า การนำระบบให้คะแนน ESG Score จะนำมาใช้ในการประเมินทั้งการให้สินเชื่อและการลงทุนของธนาคาร แต่จะไม่เกี่ยวกับการลงทุนของธนาคารที่ได้เข้าไปถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: ก๊าซเรือนกระจก, ถ่านหิน, ธนาคารออมสิน, วิทัย รัตนากร