สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาไทย ตอบโจทย์ 14 อุตสาหกรรมศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อาหารเครื่องดื่ม อาหารเสริม เครื่องสำอาง เวชสำอาง ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง พร้อมแนะเร่งสร้างมูลค่ากัญชง-กัญชา เพิ่มโอกาสในเวทีโลก
นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TIHTA) เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาไทยในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 ที่มีการปลดล็อคพืชกัญชง-กัญชา สมาคมฯ ได้สร้างเครือข่ายของอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา และการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชง-กัญชาไทยให้มีความแข็งแรงตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ ผู้ประกอบการด้านแปรรูป และผู้ผลิต รวมไปถึงการสร้างแนวทางให้กัญชง-กัญชาไทยตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาโลกให้ได้มากที่สุด
อุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาไทยถือว่ามีความแข็งแรง และมีการขับเคลื่อนรวมถึงการวางมาตรฐานของอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2564 ครอบคลุม 6 มาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา คือ 1.น้ำมันเมล็ดกัญชง 2.สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 30% 3.สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวม ไม่น้อยกว่า 80% 4. เปลือกกัญชง 5.แกนกัญชง 6.เส้นใยกัญชง ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นมาตรฐานของการนำวัตถุดิบจากกัญชงมาใช้ในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม จนปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับพืชกัญชง-กัญชามากถึง 14 ประเภทอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อาหารเครื่องดื่ม อาหารเสริม เครื่องสำอาง เวชสำอาง ยานยนตร์ วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพืชกัญชง-กัญชาของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเติบโตตามกรอบของระเบียบและกฎหมายการรับรอง ทั้งในแง่ของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ได้แก่ การปลูก การสกัด และผลิตภัณฑ์ โดยข้อมูลจากแอปพลิเคชันปลูกกัญมีการลงทะเบียนการปลูกกว่า 1.1 ล้านคน และข้อมูลจากองค์การอาหารและยา และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมีพื้นที่การปลูกมากถึง 11,348,882 ตรม.
สำหรับใบอนุญาตผู้สกัดสารสำคัญ จำนวนทั้งสิ้น 89 แห่ง โดยแบ่งเป็นใบอนุญาตสกัดกัญชา 41 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐทั้งหมด และใบอนุญาตสกัดกัญชง 48 แห่ง โดยมีเอกชน 39 ราย และหน่วยงานรัฐ 9 ราย สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านปลายน้ำ อ้างอิงจากระบบสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีกัญชา กัญชง เป็นส่วนประกอบ ของคณะกรรมการอาหารและยา มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับคณะกรรมการอาหารและยากว่า 1,000 รายการ ซึ่งแบ่งเป็นเครื่องสำอาง 77% อาหารและอาหารเสริม 19% และผลิตภัณฑ์สมุนไพร 4% นอกจากนี้ ด้านมูลค่าตลาดข้อมูลจาก Euromonitor มูลค่าทางการตลาดกัญชงและกัญชาของประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่า 8,482 ล้านบาท และคาดการณ์เติบโตในปี 2570 จะมีมูลค่า 73,447 ล้านบาท
นายพรชัย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด มองว่าอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชาเป็นโอกาสของประเทศ โดยให้ผู้ประกอบการเน้นหนักไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะหากทุกคนมุ่งไปสู่การปลูกเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายก็จะเกิดการแย่งกันขายและตัดราคากันในที่สุด ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้เลย ตัวอย่างเช่น การนำสารสกัดจากัญชงไปเป็นส่วนผสมในยาหม่องสมุนไพรที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย มูลค่าตลาดระดับพันล้านบาท นี่คือส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กัญชงได้ มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงแค่การปลูก ดังนั้นผู้ประกอบการควรศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ และนำกัญชงไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จะเป็นสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา ยังตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืนของ Sustainable Development Goal (SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations/ UN) ทั้งในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้านพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ด้านสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และด้านการเสริมความเข้มแข็งของความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น. ซี. ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงาน Asia International Hemp 2023 ในระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นใน 14 อุตสาหกรรมหลัก โดยยึดหลักกระบวนการผลิตตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการเจรจาเพื่อเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย และนักลงทุนจากนานาชาติ ในฐานะศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกัญชงของภูมิภาค
นอกจากนี้ ภายในงานจะมี Show case ทุกประเภทอุตสาหกรรม รวมถึงการนำมาใช้ในเชิงวัฒนธรรม งานหัตถศิลป์ที่สร้างเป็นผลงานต่อยอด ยกระดับของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม สู่การสร้างชิ้นงานศิลป์ในโซน ‘Hemp Living’ โดยศิลปินของไทยที่ชื่อเสียงระดับโลก ทำให้กัญชงไทยสามารถสร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันที่จะก่อให้เกิดการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจได้อีกส่วนหนึ่ง
นายสุรพล กล่าวว่า ในปีนี้มีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในการเสวนาเชิงวิชาการส่วนของ International Forum โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 12 ประเทศในแต่ละประเภทอุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพืชเศรษฐกิจ มาร่วมให้ข้อมูลและประสบการณ์แบบจัดเต็มครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจกัญชง-กัญชา
สำหรับงาน Asia International Hemp Expo 2023 ถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์กัญชงนานาชาติ งานแรกของเอเชียที่เป็นจุดเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจของนักอุตสาหกรรมในวงการจากทั่วโลก โดยปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าชมงานจากกว่า 80 ชาติ สร้างมูลค่าการซื้อขายจากการจัดงานกว่า 5,500 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานตั้งแต่ต้นน้ำการปลูก กลุ่มวัตถุดิบ การแปรรูป ไปถึงปลายน้ำที่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย ภายใต้มาตรฐานการคัดกรองสินค้าที่มุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์โดยเฉพาะ และในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 คน มูลค่าเงินหมุนเวียนในงานไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย, อุตสาหกรรมกัญชา-กัญชง