นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค.66 อยู่ที่ 108.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.88% ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และก๊าซหุงต้มในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.66) เพิ่มขึ้น 2.01%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนก.ค.66 อยู่ที่ 104.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.79% ให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.61%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมจะทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อของปี 2566 ใหม่ในการแถลงครั้งหน้า จากปัจจุบันที่คาดไว้ 1-2% เนื่องจาก 3 ปัจจัยที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนส.ค.นี้ ราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.98% (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท รวมทั้งค่าโดยสารที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน เช่น ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก/สองแถว นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา
หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อของไทย เปรียบเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนก.ค.66) จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ แลต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม) ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย ที่ทำให้ราคาพืชผลเกษตรปรับตัวสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก
ผู้อำนวยการ สนค. ยังกล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนก.ย.66 ว่า มีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ และการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งฐานการคำนวณเงินเฟ้อในเดือนก.ย. 65 ที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัว และเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐ ที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
“เรารอดูมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งการลดราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าโดยสารรถไฟฟ้า ว่าจะมีการปรับลดลงมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าจะมีผลแน่กับเงินเฟ้อ สนค.ได้ทำเป็นตุ๊กตาเตรียมไว้แล้ว ว่าถ้าลดเท่านี้ จะมีผลต่อเงินเฟ้อในอัตราเท่านี้ แต่ตอนนี้ขอรอดูมาตรการที่จะออกมาให้ชัดเจนก่อน ว่าจะออกมาในช่วงไหน และปรับลดลงได้มากแค่ไหน” นายพูนพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์, ราคาพลังงานโลก, สนค., อัตราเงินเฟ้อ, แก๊สโซฮอล์