ไทย-UAE เจรจาจัดทำ FTA (CEPA) รอบ 3 คืบหน้าตามเป้าหมาย ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาภายในปีนี้ ชี้! CEPA จะช่วยขยายการค้าและการลงทุน สินค้าไทยจะได้ประโยชน์เพียบ ทั้งอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ไม้ ยาง และพลาสติก ด้านไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 4 ปลายเดือน ก.ย.นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าการเข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. – 1 ก.ย. 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า ในภาพรวมการเจรจาคืบหน้าด้วยดี ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า ซึ่งเป็นการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ ประกอบด้วย (1) การค้าสินค้า (2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (4) มาตรการเยียวยาทางการค้า (5) การค้าบริการและการค้าดิจิทัล (6) ทรัพย์สินทางปัญญา (7) มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (8) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และ (9) ประเด็นด้านกฎหมาย
โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา CEPA ไทย – ยูเออี รอบที่ 4 ในช่วงปลายเดือนก.ย. 2566 ณ กรุงเทพฯ เพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายตั้งไว้
นางอรมน กล่าวว่า ผลการศึกษาประเมินว่า การจัดทำ CEPA ระหว่างไทยกับยูเออี จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายผ่านการเปิดตลาด การอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดและเลิกอุปสรรคทางการค้า โดยคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 190 -243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,652 – 8,508 ล้านบาท) สินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น อาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สาขาบริการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ เป็นต้น
ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 20,474.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.- ก.ค. 2566) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 11,120.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปยูเออี มูลค่า 1,817.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 9,302.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญจากยูเออี เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 66)
Tags: FTA, UAE, กระทรวงพาณิชย์, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม