HSBC ห่วงมาตรการกระตุ้นศก.ชุดใหญ่ ดันเงินเฟ้อพุ่ง-ขาดดุลการคลังเพิ่ม

นายอาริส ดาคาเนย์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC Global Research) ประเมินการขาดดุลทางการคลังในปีงบประมาณ 67 เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ของจีดีพี (จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.1%) และลดการคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 67 ลงเหลือ 2.2% ของจีดีพี ซึ่งเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.8%

โดยที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาท และเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลในวันที่ 11 พ.ค. 67 จากการเปลี่ยนกติกาในการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันดังกล่าว เราจึงคาดว่ารัฐบาลชุดที่กำลังจะเข้ามาบริหารจะเร่งผลักดันนโยบายที่เสนอไว้และกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 (Front-loaded spending) ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงที่อาจตามมาคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะกลับมาใช้นโยบายแบบเข้มงวดอีกครั้งหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่านักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังรอจับตาดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพ.ค. 67 ก่อน

การตั้งงบประมาณ สามารถทำได้หลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่จะยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณไปจนกว่าจะถึงช่วงต้นของปีงบประมาณ 67 (ซึ่งเริ่มในเดือนต.ค. 66) ด้วยเวลาที่จำกัดและรัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องเสนองบประมาณให้รัฐสภาพิจารณา ดังนั้นเราจึงคาดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะยังคงลดลงในไตรมาส 4/66 ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตมีการชะลอตัวลงอีก จากเดิมที่ต่ำกว่าการคาดการณ์อยู่แล้ว โดยในไตรมาส 2/66 เติบโตเพียง 1.8% เท่านั้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

แม้อาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่ก็คาดว่าจะมีการกำหนดงบประมาณแบบขยายตัว ในช่วงฤดูหาเสียง ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายแจกเงินสดและเงินอุดหนุนในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งมีมูลค่าสูงจนสร้างความวิตกกังวลว่าจะกระทบกับเสถียรภาพทางการคลังและนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อสำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น แคมเปญหลักที่ให้สัญญาไว้คือแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.1% ของจีดีพี และยังมีนโยบายอื่นๆ อีก เช่น เพิ่มรายได้ของเกษตรกร 3 เท่าและประกันรายได้ครัวเรือน 20,000 บาท/เดือน

จากคำมั่นสัญญาเหล่านี้ คาดว่าการขาดดุลทางการคลังในปีงบประมาณ 67 จะอยู่ที่ 4.4% ของจีดีพี (จากที่ก่อนหน้านี้อยู่ที่ร้อยละ 4.1) หรือ 8.4 แสนล้านบาท ก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลชุดที่แล้วได้จัดสรรงบประมาณเอาไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์การขาดดุลที่ 6 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3.0% ของจีดีพี การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลที่ 4.4% มาจากค่าใช้จ่ายในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่เพิ่มเข้ามา โดยเราคาดการณ์ว่าเพื่อให้จัดสรรงบประมาณได้อย่างเพียงพอ อาจจะมียกเลิกนโยบายสวัสดิการอื่นๆ เช่น เงินอุดหนุนรายเดือนสำหรับผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 300 บาท เบี้ยผู้สูงอายุรายเดือน และเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้เป็นการประเมินให้ต่ำเอาไว้ก่อนเนื่องจากยังคงไม่มีความแน่นอนในด้านนโยบายสำหรับสวัสดิการที่ดำเนินอยู่แล้ว

ธนาคารยังมองว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะกระจุกตัวอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปี 67 ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน เหตุผลหลักที่ทำให้คาดการณ์เช่นนั้นเป็นเพราะว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองในวันที่ 11 พ.ค. 67 ซึ่งเป็นวันที่วุฒิสภาจะไม่มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นจะอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งในสภาล่างนี้ พรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้านเป็นพรรคที่มีจำนวนที่นั่งมากที่สุด ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยอาจจะต้องเลือกดำเนินนโยบายต่างๆ ที่สัญญาไว้ในขณะหาเสียงก่อนถึงวันที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับรัฐบาล

อุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อความต้องการนำเข้า เราจึงปรับการคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 67 ของเราลงมาเหลือ 2.2% ของจีดีพี (จากเดิม 2.8%) และคงคาดการณ์สำหรับปี 66 ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 2.0%

การติดตามดูอัตราเงินเฟ้อถือเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการกระตุ้นเศรฐกิจครั้งใหญ่แล้ว พรรคเพื่อไทยยังเสนอให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่ 340 บาท เป็น 600 บาทต่อวันให้สำเร็จภายในปี 70 คาดว่าในไตรมาส 2/67 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) อาจเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากอัตราเงินเฟ้อมีการเร่งตัวเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้อันเป็นผลมาจากนโยบายการคลังแบบขยายตัวและการขึ้นค่าแรงก็มีความเสี่ยงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินอีกครั้ง ส่งผลให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 bps เป็น 2.50% แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% จนถึงปี 68 เป็นอย่างน้อย

การผลักดันมาตรการทางการเงินการคลังของรัฐบาลชุดใหม่อาจส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการออกตราสารหนี้ แต่ในขณะนี้ยังคงยากที่จะคาดเดาอย่างแน่ชัด เรายังคงคิดว่าเป็นเรื่องดีที่เส้นอัตราผลตอบแทนสวอป (Swap Curve) ของไทยชันขึ้น เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเงินและการใช้จ่ายของรัฐบาลอาจจะสะท้อนให้เห็นในตลาดสวอปได้เร็วกว่าตลาดตราสารหนี้ โดย Forward Swap Curve ในขณะนี้สะท้อนมุมมองว่ามีโอกาสประมาณ 30% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps เป็น 2.5% ภายในสิ้นปี 66

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทย (THB) อยู่ในระดับที่ดีกว่า เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนเริ่มคลี่คลายลงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์พื้นฐานของเราที่เชื่อว่าเงินบาทจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 66 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน USD-THB ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มทั้งในแบบที่สูงกว่าเป้าหมาย (Overshoot) และต่ำกว่าเป้าหมาย (Undershoot) เมื่อเทียบกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเฉลี่ยของคู่สกุลเงิน USD และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบอุปสรรคในการฟื้นตัวของค่าเงินบาท เมื่อพิจารณาจากความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนติดลบ การเติบโตที่ซบเซา และการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินบาทฟื้นตัวหลังจากการเลือกตั้ง มี 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. นักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาลงทุนอีกครั้งหลังความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจลดลง ตัวอย่างเช่น ในช่วงเลือกตั้งปี 62 มีเงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้ามาภายในระยะเวลา 2 เดือนหลังจากที่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไหลออกไปในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านั้น

2. เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกับที่กระแสเงินทุนไหลออกจะชะลอตัวลง สำหรับประเด็นหลัง เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนในประเทศมีการซื้อหุ้นต่างประเทศเป็นมูลค่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 64 เป็นผลมาจากผลตอบแทนหุ้นไทยที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 จนถึงปัจจุบัน ดัชนี SET มีการปรับตัวขึ้นประมาณ 2.5% ในขณะที่ดัชนี FTSE World มีการปรับลดลง

3. โอกาสที่จะเกิดการประท้วงในประเทศมีน้อยลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทน่าจะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวของไทยมักจะคึกคัก แต่ดุลการค้าจากการท่องเที่ยวของไทยกลับไม่ได้เกินดุลแบบน่าประทับใจมากนักในไตรมาสแรกของปี 66 (5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 42% ของไตรมาสแรกในปี 62) อันเป็นผลมาจากคนไทยออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น (85% ของไตรมาสแรกในปี 62) และมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย (60% ของไตรมาสแรกในปี 62 ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว และเพียง 50% ของไตรมาสแรกในปี 62 ในแง่ของรายได้)

แต่ข่าวดีก็คือช่องว่างดังกล่าวกำลังลดลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ และขยับขึ้นมาเป็น 75% ของเดือนก.ค. 62 อันที่จริงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลมีการคาดการณ์ว่าบัญชีดุลสะพัดจะพลิกเปลี่ยนจากที่ขาดดุล 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 65 มาเป็นเกินดุล 6-7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 66 (หากมีนักท่องเที่ยว 28-29 ล้านคน) ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี (ในครึ่งแรกของปี 66 เกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักท่องเที่ยว 13 ล้านคน) และทีมวิจัยทางเศรษฐกิจของธนาคารเอชเอสบีซีเชื่อว่าน่าจะมีแนวโน้มที่สูงกว่านั้นอีก โดยคาดว่าจะเกินดุล 1.1 หมื่นล้าน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top