PSP ปิดเทรดวันแรกที่ 10.00 บาท สูงกว่าจอง 61.29%

PSP ปิดเทรดวันแรกที่ 10.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.80 บาท (+61.29%) จากราคา IPO 6.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 2,432.99 ล้านบาท จากราคาเปิด 9.40 บาท ราคาสูงสุด 12.00 บาท ราคาต่ำสุด 9.30 บาท

บล.ทิสโก้ ประเมินมูลค่าเบื้องต้นบมจ.พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ (PSP) ด้วยวิธี P/E ของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 16 เท่าได้มูลค่าเหมาะสมที่ 6.80 บาท

บล.ทิสโก้ มองว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง บริษัทปิโตรเคมีบางบริษัทมีธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นและมีแบรนด์เป็นที่รู้จัก เช่น PTT, Shell, Chevron ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันหล่อลื่นสำหรับยานยนต์ในประเทศไทยราวร้อยละ 22.7, 19.3 และ 5.3 ตามลำดับ ซึ่ง PSP อยู่ที่ร้อยละ 13.2 แต่ทั้งนี้การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ทำได้ยาก เนื่องจากต้องขอใบอนุญาต ใช้ความเชี่ยวชาญ และเงินลงทุนที่สูง ซึ่งบริษัทมีความได้เปรียบในการมีธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) และมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันหล่อลื่น รวมทั้งมีส่วนแบ่งทางการตลาดของน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันผสมยาง และน้ำมันหม้อแปลงรวมสูงที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ทำเลที่ตั้งของบริษัทติดกับแม่น้ำ มีท่าเรือเป็นของตัวเอง ทำให้สามารถขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้อย่างสะดวก และช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ รวมทั้งมีจุดแข็งด้านการวิจัยพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ และควบคุมคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีสูตรการผลิตน้ำมันหล่อลื่นกว่า 1,000 สูตร ขณะที่กำลังการผลิตของบริษัทและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคตแล้ว ดังนั้นการระดมทุนตามวัตถุประสงค์จึงมีความเหมาะสม แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามต่อ

ขณะที่สัดส่วนหลักของบริษัทอยู่ในธุรกิจยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีภาพรวมที่ดีขึ้นในปีนี้ จากยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา +4.72% YoY แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง จากส่วนแบ่งทางการตลาดของรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสงค์รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นลดลง แต่ความต้องการน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมองว่ามีผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันหล่อลื่นน้อย เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีในการเจาะตลาดประเทศไทย

ในแง่ของรายได้ รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นทุกปี แต่ผันผวนตามราคาวัตถุดิบ เช่น น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งบริษัทปรับราคาผลิตภัณฑ์ตามต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งมีเป้าหมายในการเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าในประเทศ จาก 15% เป็น 25% ภายในปี 2569 จึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตต่อไปได้

ส่วนต้นทุนขายของบริษัทที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงในระยะถัดไป จากราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่เริ่มลดลง ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย หลังจากต้นทุนขายเริ่มต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีการตุนวัตถุดิบในช่วงกลางปี 65

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ 1) การจ่ายชำระหนี้สินและการดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามเงื่อนไขของสถาบันการเงิน 2) ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หล่อลื่นชนิดใหม่ 3) การเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ

ความเสี่ยง 1) อุปสงค์การใช้รถยนต์ EV 2) ราคาและปริมาณเชื้อเพลิงในตลาดโลก 3) การกู้ยืมและความสามารถในการชำระดอกเบี้ย

PSP ประกอบธุรกิจให้บริการโซลูชันผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอิสระที่มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งทางการตลาดรวมทุกผลิตภัณฑ์มากที่สุดในประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น จาระบี และผลิตภัณฑ์พิเศษ (น้ำมันผสมยาง, น้ำมันหม้อแปลง, น้ำมันทำงานโลหะ น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ และหัวเชื้อน้ำมันเชื้อเพลิง) โดยบริษัทให้บริการตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การพัฒนา การออกแบบ การผลิต (เป็นการผลิตตามความต้องการของลูกค้า (Made-to-Order)) การบรรจุผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บและศูนย์กระจายสินค้า การให้บริการจัดการด้านโลจิสติกส์ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสารเติมแต่งแบรนด์ Chevron Oronite ในไทย กัมพูชา และลาว และเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในสินค้า เช่น Markers และสินค้าอื่นๆ ของ Authentix ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบและรับรองสินค้าระดับสากล ภายใต้บริษัทย่อย U.C. Marketing รวมทั้งยังขยายธุรกิจ New S-curve ใหม่ ให้บริการ E-commerce Platform สำหรับซื้อขายชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top