In Focus: โลกอ่วมเมื่อวิกฤตอาหารกลายเป็น “นิวนอร์มอล” ผู้คนอดอยากมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบั่นทอนผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ข้าวจากอินเดียไปจนถึงข้าวสาลีของออสเตรเลีย ซ้ำเติมภาวะขาดแคลนอาหารและราคาอาหารแพงที่มีอยู่ก่อนแล้วจากผลพวงของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

ตลาดทั่วโลกตื่นตระหนกทันทีที่อินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เพื่อควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศและรับประกันว่าจะมีข้าวราคาเหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอภายในประเทศ เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกาใต้ซาฮาร่าที่พึ่งพาข้าวอินเดีย

แต่อินเดียให้เหตุผลในการสั่งห้ามส่งออกข้าวในครั้งนี้ว่า อินเดียถูกกดดันจากราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก หลังเกิดสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในต่างประเทศ ความหวั่นวิตกเรื่องเอลนีโญ และสภาพอากาศสุดขั้วในประเทศผู้ผลิตข้าวอื่น ๆ โดยคำสั่งห้ามดังกล่าวกระทบต่อการส่งออกข้าวถึง 1 ใน 4 ของอินเดีย

การสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดียเกิดขึ้นหลังรัสเซียฉีกข้อตกลงส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำเพียงไม่กี่วัน ทำให้วิกฤตอาหารลุกลามมากยิ่งขึ้น

รูปแบบสภาพอากาศที่ผิดปกติ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำจากผลพวงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นพร้อมกันบ่อยขึ้น ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นและทำให้มีผู้เสี่ยงอดอยากหิวโหยมากขึ้น

ภาวะคลื่นความร้อนในปี 2565 ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลีของอินเดีย ทำให้อินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลีไปเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว และยังไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกจนถึงขณะนี้ โดยอินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตข้าวโพดชั้นนำ เผชิญภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ทำให้ผลผลิตทรุดตัวลงอย่างรุนแรง

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก สั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นการชั่วคราวในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพุ่งสูงขึ้น หลังยูเครนประสบปัญหาในการจัดส่งน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันจากผลพวงของสงคราม ทำให้ทั่วโลกต้องแย่งชิงกันซื้อน้ำมันพืช

เมียนมาประกาศระงับส่งออกข้าวเป็นเวลา 45 วันตั้งแต่สิ้นเดือนนี้ เพื่อสกัดราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ โดยเมียนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีการส่งออกมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี

บราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองรายใหญ่ เผชิญภัยแล้งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแคนาดาเผชิญภาวะผลผลิตน้ำมันคาโนลาตกต่ำมากที่สุดในรอบ 14 ปีในปี 2564

*หรือวิกฤตอาหารจะเป็นวิถีชีวิตใหม่

วิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นไม่ขาดสายนี้อาจกลายมาเป็น New Normal หรือวิถีชีวิตใหม่ของชาวโลก แต่แท้จริงแล้วยังมีวิธีแก้ไข

การบรรจบกันของภาวะสภาพอากาศสุดขั้ว การสั่งห้ามส่งออกอาหาร และความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์อาจทำให้ความมั่นคงทางอาหารโลกตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไร้ที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังมีวิธีแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารโลก เพียงแค่ส่งเสริมการค้าเสรี และใช้พืชพันธุ์ที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารในอนาคตได้

*ผู้ผลิตอาหารแห่ห้ามส่งออก

ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลกและมีการบริโภคข้าวมากกว่า 500 ล้านตันในแต่ละปี โดยอินเดียคิดเป็นส่วนถึง 40% ของการส่งออกข้าวโลก ขณะที่ผู้ค้าข้าวรายสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐ

นางเชอร์รี มุสตาฟา นักวิเคราะห์ตลาดข้าวขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ข้าวนึ่งและข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (Basmati) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของตลาดโลกตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยอินเดียประกาศเรียกเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค.

นางมุสตาฟาระบุว่า ข้าวชนิดนี้ถูกส่งไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนปาล และบังกลาเทศ ขณะที่ทวีปแอฟริกาเริ่มกลายมาเป็นผู้นำในการซื้อข้าวชนิดนี้ เช่น แคเมอรูน มาดากัสการ์ และโกตดิวัวร์

ขณะเดียวกันนางมุสตาฟาระบุว่า คำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดียได้ทำลายเสถียรภาพตลาดข้าว ทำให้ราคาข้าวพุ่งทะยานขึ้นทั่วโลก โดยส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศยากจนมากเป็นพิเศษ โดยประเทศเหล่านี้พยายามหาทางซื้อข้าวกักตุนท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านอุปทาน

อุปสงค์ข้าวแข็งแกร่ง แม้ถูกจำกัดการส่งออก โดยในเดือนก.ย. 2565 อินเดียพยายามยับยั้งการซื้อข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (Basmati) จากต่างชาติผ่านการใช้มาตรการด้านภาษี เพื่อรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวเพียงพอในประเทศ ทว่ากลยุทธ์ดังกล่าวกลับประสบความล้มเหลว แม้อินเดียเก็บภาษี แต่การส่งออกข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวจากอินเดียยังคงเติบโตขึ้น 25% ระหว่างเดือนก.ย.–มี.ค.เทียบกับปีก่อนหน้า

ดัชนี All Rice Price Index ของ FAO ระบุว่า คำสั่งห้ามส่งออกข้าวระลอกล่าสุดของอินเดีย ทำให้ราคาข้าวพุ่งทะยานขึ้นทั่วโลก โดยราคาข้าวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554 ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

“ราคาข้าวขาวของไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นราคาอ้างอิงสำหรับข้าว ปรับตัวขึ้นประมาณ 14% นับตั้งแต่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าว” นายโจเซป กลอเบอร์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศระบุ

แต่อินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวที่ออกมาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร โดยธนาคารโลกระบุในรายงานความมั่นคงทางอาหารฉบับล่าสุดในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า มีทั้งหมด 20 ประเทศที่ออกมาตรการจำกัดการส่งออกโภคภัณฑ์อาหารสำคัญ โดยอัฟกานิสถานห้ามส่งออกข้าวสาลี บังกลาเทศห้ามส่งออกข้าวและแคเมอรูนห้ามส่งออกน้ำมันพืชและธัญญาหาร ขณะที่ ประเทศอื่น ๆ เช่น รัสเซียและยูกันดาเรียกเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และข้าว

การใช้นโยบายการจำกัดการค้าอาหารเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นพิเศษ หลังรัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครนในเดือนก.พ. 2565

*ผู้คนอดอยากหิวโหยมากขึ้น

นายมาติน คาอิม ศาสตราจารย์ด้านอาหารและนักเศรษฐศาสตร์ด้านเกษตรกรรมจากมหาวิทยาลัยบอนน์ของเยอรมนีระบุว่า อาหารหลัก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และเมล็ดพืชน้ำมัน มีราคาแพงขึ้น นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ได้บั่นทอนห่วงโซ่อุปทานโลก หลังราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพมาหลายปี

นายคาอิมระบุว่า กรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครนทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้าย “ราคาอาหารไม่เพิ่มขึ้นมากถึงเพียงนี้นับตั้งแต่ปี 2550 – 2551 และ 2554” โดยราคาอาหารโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. 2565 ตามข้อมูลของ FAO

ก่อนเกิดสงคราม รัสเซียและยูเครนคิดเป็นสัดส่วน 34% ของการส่งออกข้าวสาลีโลก 27% ของการส่งออกข้าวบาร์เลย์ 17% ของการส่งออกข้าวโพด และ 55% ของการส่งออกน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน

บางพื้นที่พึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซียและยูเครนในระดับสูง โดยแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางนำเข้าธัญญาหารถึง 50% จากรัสเซียและยูเครน

การปิดล้อมท่าเรือในทะเลดำของรัสเซียทำให้ยูเครนแทบไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ในระหว่างเดือนมี.ค. – ก.ค. 2565 ต่อมาองค์การสหประชาชาติ (UN) และตุรกีช่วยไกล่เกลี่ยจนบรรลุข้อตกลงที่อนุญาตให้สามารถส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านเส้นทางทะเลดำได้อีกครั้ง โดยมีการส่งออกข้าวโพด ข้าวสาลี และธัญพืชอื่น ๆ กว่า 32 ล้านตันจากยูเครนระหว่างเดือนก.ค. 2565–ก.ค. 2566

แต่ในวันที่ 17 ก.ค. รัสเซียตัดสินใจไม่ต่ออายุข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเสี่ยงส่งผลกระทบต่อการส่งออกธัญพืชของยูเครน

“เราจะเห็นจำนวนผู้อดอยากเพิ่มมากขึ้น และกรณีดังกล่าวเสี่ยงกระทบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการขจัดความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบภายในปี 2573” นายคาอิมกล่าว

รายงานความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลกประจำปี 2566 ของ FAO ระบุว่า ประมาณ 9.2% ของประชากรโลก ซึ่งคิดเป็นราว 691–783 ล้านคน ต้องประสบกับภาวะหิวโหยในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7.9% ในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในปี 2562

ปัจจัยที่ทำให้วิกฤตอาหารทวีความรุนแรงคือปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ไฟป่าในแคนาดาและยุโรป ภัยแล้งในอเมริกาใต้ และแอฟริกาตะวันออก ตลอดจนน้ำท่วมในจีนและภัยแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทั้งหมดนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

*ร้อนเกิน แล้งเกิน ฝนมากเกินไป

หลังเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงแบบเป็นวงกว้างในปากีสถานเมื่อปี 2565 พื้นที่เพาะปลูกขนาดเท่ากับสาธารณรัฐเช็กจึงต้องจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้พืชผลกว่า 80% ของปากีสถานพังเสียหายและทำให้ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตอาหาร

ในอีกซีกโลกหนึ่งก็เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเช่นเดียวกัน โดยอาร์เจนตินาและสเปนต้องเผชิญภัยแล้งครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ในปีนี้

โกร อินเทลลิเจนซ์ บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเกษตรในนิวยอร์กระบุว่า ออสเตรเลียเสี่ยงที่จะมีผลผลิตข้าวสาลีลดลง 34% ในปีนี้ จากผลพวงของปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ขณะเดียวกันสภาพอากาศร้อนจัดก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวโพดสหรัฐและผลผลิตข้าวสาลีในยุโรปและแคนาดาเช่นเดียวกัน

เคนยา โซมาเลีย ยูกันดา แทนซาเนีย เฮติ ชิลี และโบลิเวียต่างก็มีแนวโน้มที่จะมีผลผลิตการเกษตรลดน้อยลงจากผลพวงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในปีนี้

อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎีแล้วประเทศต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารได้ด้วยการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศที่มีผลผลิตสูง

*แก้วิกฤตอาหารผ่านการค้าเสรี

“สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรก็จริง แต่ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก” นายภารัต รามาซวามี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอโศกในกรุงนิวเดลีระบุ พร้อมกล่าวว่า “อุปทานอาหารโลกไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศสุดขั้ว ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารโลกได้ด้วยการร่วมมือกันระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันให้อาหารเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี”

แม้ภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดลดลงในสหรัฐและบางประเทศในเอเชียในปี 2564 – 2565 แต่ออสเตรเลียมีผลผลิตข้าวสาลีในระดับสูงในปีดังกล่าว

นายรามาซวามีระบุว่า สต็อกอาหารโลกยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการคาดการณ์ล่าสุดในเดือนมิ.ย. 2566 ของ FAO แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตและสต็อกโภคภัณฑ์อาหารพื้นฐานแท้จริงแล้วเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นการผลักดันให้อาหารเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีจะช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารได้ แต่วิธีการดังกล่าวกลับถูกบั่นทอนจากการควบคุมการส่งออกอาหาร และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในบางประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top