พาณิชย์ ถกแดนกิมจิ เล็งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ดึงดูดลงทุนจากเกาหลีใต้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายอัน ชาง-ยอง อธิบดีกรมนโยบายเขตการค้าเสรี กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ของเกาหลีใต้ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ระหว่างกัน หรือเรียกว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบสองฝ่าย ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีร่วมกันอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ปัจจุบัน ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างศึกษาประโยชน์ และผลกระทบของการจัดทำ FTA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี และเร็วๆ นี้ จะเตรียมจัดรับฟังความเห็นสาธารณะและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อรวบรวมผลเสนอ รมว.พาณิชย์ และให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ขณะที่เกาหลีใต้ ได้ทำการศึกษาและหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เสร็จแล้ว รวมทั้งสนใจที่จะหารือความคาดหวังและความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจา FTA กับไทย โดยทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอผลต่อระดับรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบการเปิดเจรจา FTA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยเร็วต่อไป

นางอรมน กล่าวว่า การจัดทำ FTA ระหว่างไทยและเกาหลีใต้ จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่าย ต่อยอดจาก FTA ที่มีอยู่แล้วในกรอบอาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเฉพาะในสินค้าที่ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่ได้ลดเลิกภาษีศุลกากรให้ไทย เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์ ผลไม้สดเมืองร้อน (มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) กากมันสำปะหลัง ซอสและของปรุงรส น้ำยางธรรมชาติ ยางล้อ และถุงมือยาง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มความร่วมมือในเรื่องใหม่ๆ ระหว่างกัน เช่น การค้าดิจิทัล และห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 66) การค้าไทยและเกาหลีใต้มีมูลค่า 8,999.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปเกาหลีใต้ มูลค่า 3,725.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 5,274.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top